พิมพ์
หมวดหลัก: All cat
หมวด: ท่านพ่อลี ธมฺมธโร

มีข้อสำคัญอยู่ 7 ข้อ คือ

  1. ให้ภาวนา พุธ ลมเข้ายาวๆ โธ ลมออกยาวๆ ก่อน 3 ครั้ง หรือ 7 ครั้ง (คำภาวนากับลมให้ยาวเท่ากัน)
  2. ให้รู้จักลมเข้าลมออกโดยชัดเจน
  3. ให้รู้จักสังเกตลมในเวลาเข้าออกว่ามีลักษณะอย่างไร สบายหรือไม่สบาย กว้างหรือแคบ ขัดหรือสะดวก ช้าหรือเร็ว สั้นหรือยาว ร้อนหรือเย็น ถ้าไม่สบายก็ให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขจนได้รับความสะดวกสบาย เช่น เข้ายาวออกยาวไม่สบายให้เปลี่ยนเป็นเข้าสั้นออกสั้นเป็นต้น จนกว่าจะได้รับความสบาย เมื่อได้รับความสบายสะดวกดีแล้ว ให้กระจายลมที่สบายนั้นไปในส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น สูดลมเข้าไปที่ท้ายทอยปล่อยลงไปในกระดูกสันหลังให้ตลอด ถ้าเป็นเพศชายปล่อยไปตามขาขวาทะลุถึงปลายเท้า แล้วกระจายไปในอากาศแล้วกลับมาสูดใหม่ปล่อยเข้าไปในท้ายทอย ปล่อยลงไปในกระดูกสันหลัง ปล่อยไปตามขาซ้ายทะลุถึงปลายเท้า แล้วกระจายไปในอากาศแล้วกลับมาปล่อยตั้งแต่ท้ายทอยผ่านไหล่ทั้งสองถึงข้อศอกข้อมือทะลุถึงปลายนิ้ว กระจายไปในอากาศ แล้วก็ปล่อยลงคอหอยกระจายไปที่ขั้วปอดขั้วตับ กระจายเรื่อยลงไปจนถึงกระเพาะเบากระเพาะหนัก แล้วก็สูดลมหายใจเข้าไปตรงกลางอก ทะลุไปจนถึงลำไส้ กระจายลมสบายเหล่านี้ให้ทั่วถึงกันได้ จะได้รับความสะดวกขึ้นมาก (ถ้าเป็นเพศหญิงให้กระจายลมทางซ้ายก่อน เพราะเพศหญิงและชายเส้นประสาทต่างกัน)
  4. ให้รู้จักขยายลมออกเป็น 4 แบบ คือ เข้ายาวออกยาว เข้าสั้นออกสั้น เข้าสั้นออกยาว เข้ายาวออกสั้น แบบใดเป็นที่สบายให้เอาแบบนั้น หรือทำให้สบายได้ทุกแบบยิ่งดี เพราะสภาพของบุคคล ลมหายใจย่อมเปลี่ยนแปลงไปได้ทุกเวลา
  5. ให้รู้จักที่ตั้งของจิต ฐานไหนเป็นที่สบายของตัวให้เลือกเอาฐานนั้น (คนที่เป็นโรคประสาทปวดศรีษะ ห้ามตั้งข้างบน ให้ตั้งอย่างสูงตั้งแต่คอหอยลงไป และห้ามสะกดจิตสะกดลม ให้ปล่อยลมตามสบาย ปล่อยใจตามลมเข้าออกให้สบายแต่อย่าให้หนีไปจากวงของลม) ฐานเหล่านั้นได้แก่ 1. ปลายจมูก 2. กลางศรีษะ 3. เพดาน 4. คอหอย 5. ลิ้นปี่ 6. ศูนย์ (สะดือ) นี้ฐานโดยย่อคือที่พักของลม
  6. ให้รู้จักขยายจิต คือ ทำความรู้สึกให้กว้างขวางออกไปทั่วสรรพางค์กาย
  7. ให้รู้จักประสานลม และขยายจิตออกให้กว้างขวาง ให้รู้ส่วนต่างๆของลมซึ่งมีอยู่ภายในร่างกายนั้นก่อน แล้วจะได้รู้ส่วนอื่นๆทั่วไปอีกมาก คือ ธรรมชาติลมมีหลายจำพวก ลมเดินในเส้นประสาท ลมเดินหุ้มเส้นประสาททั่วๆไป ลมกระจายออกจากเส้นประสาทแล่นแทรกไปทั่วทุกขุมขน ลมให้โทษและลมให้คุณย่อมมีปนกันอยู่โดยธรรมชาติของมัน


สรุปแล้วก็คือ

  1. เพื่อช่วยให้พลังงานที่มีอยู่ในร่างกายทุกส่วนของคนเราทุกคนให้ดีขึ้น เพื่อต่อสู้สิ่งต่างๆในตัว เช่น ไม่สบายในร่างกาย เป็นต้น
  2. เพื่อช่วยความรู้ที่มีอยู่แล้วในตัวของคนทุกคนให้แจ่มใสขึ้น เพื่อเป็นหลักวิชชา วิมุติ วิสุทธิ์ ความหมดจดสะอาดในทางจิตใจ

หลักอานาปาฯทั้ง 7 ข้อนี้ควรถือไว้เป็นหลักสูตรเพราะเป็นเรื่องสำคัญของอานาปาฯทั้งสิ้น

ไหว้พระ สวดมนต์ ภาวนา 3 อย่างนี้ ต้องควบกันเสมอไป จึงจะเป็นหนทางชำระจิตใจของพุทธบริษัท ให้บริบูรณ์โดยธรรม สมกับคำที่ว่า "สพฺพปาปสฺสอกรณํ" อย่าทำความชั่วให้รั่วไหลเข้ามาสู่กายวาจาใจ "กุสลสฺสูป สมฺปทา" จงทำความดีให้สมบูรณ์บริบูรณ์เทอญ หมายความว่า กายเราก็ได้ทำ คือไหว้พระในข้อต้น สวดมนต์ทางวาจาเราก็ได้พูด เช่น สวดพุทธคุณเข้าธาตุ ภาวนาทางใจเราก็ได้นึก เช่น "พุทโธ" เมื่อเป็นเช่นนี้เราจักมีจิตผ่องใสเข้าถึงหัวใจของศาสนาดังนี้

ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกย่อมเป็นไปด้วยอำนาจจิตทั้งสิ้นใจชั่วใช้อำนาจในทางที่ผิด จิตฝึกหัดแล้วด้วยดีย่อมมีอำนาจใช้ไปในทางที่ถูก ผูกใจคนได้รับผลล้นค่า ฯ

(คัดลอกจาก ทิพยมนต์ ของพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี) ซึ่งรวบรวมไว้ในหนังสือสวดมนต์ของวัดธรรมสถิต)