พิมพ์
หมวดหลัก: All cat
หมวด: ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก

เคยมีชาวต่างประเทศมาขอฝึกภาวนากับท่าน แต่ก่อนที่จะลงมือฝึก เขาก็ถามท่านพ่อว่า ที่เขานับถือศาสนาคริสต์นั้นจะเป็นอุปสรรคไหม ท่านก็ตอบว่า "ไม่หรอก เราจะดูลม ลมนี้ไม่ใช่ของพุทธ ของคริสต์ หรือของใครทั้งนั้น แต่เป็นของกลางในโลกที่ใครๆ ก็ดูได้ ลองภาวนาดูลมจนเห็นจิต รู้จิตตัวเอง แล้วเรื่องที่จะนับถือศาสนาอะไรจะไม่เป็นปัญหา เพราะเราเอาเรื่องจิตมาพูดกัน ไม่ได้เอาเรื่องศาสนามาว่ากัน อย่างนี้ก็เรียกว่า พูดกันรู้เรื่อง"ฯ

  • "การที่จับใจให้อยู่นั้น ก็เหมือนเราจับปลาไหล จะโดดลงไปในขี้เลน จับเอาเฉยๆ มันก็ดิ้นหนี ต้องหาอะไรที่มันชอบ อย่างที่เขาเอาหมาเน่าใส่ไห แล้วฝังในขี้เลน ปลาไหลมันชอบมันก็มาเอง ใจเราก็เหมือนกัน ต้องหาอะไรที่มันชอบ เช่น ทำลมให้สบายๆจนมันสบายไปทั่วตัว ที่นี้ใจก็ชอบ ความสบายมันก็มาเอง แล้วเราก็จับมันได้ง่ายๆ"ฯ
  • "ต้องรู้ลมอยู่เสมอ มันก็ครองสุขได้ จะเอามนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ มันก็อยู่ที่ลมนี้แหละ ถ้ามัวแต่สนุกเพลิดเพลินจนลืมลมก็จะหมดสุขได้ ฉะนั้นต้องรู้จักสังเกตลมเข้า-ออก อยู่ตลอดเวลา ต้องสนใจเขาบ้างว่า เขาอยู่อย่างไร อย่าปล่อยให้เขาอยู่คนเดียว เมื่อรู้จักความเป็นอยู่ของเขาแล้วทั้งยืน เดิน นั่ง นอน รู้หมด ว่าเขาอยู่อย่างไร ทีนี้แหละจะเอาอะไรก็ได้ทุกอย่าง กายก็เบา ใจก็เบา จะสุขอยู่ตลอดเวลา"ฯ
  • "ลมสามารถพาไปถึงนิพพานได้นะ"ฯ
  • "เริ่มแรกให้ดูลมที่มีอยู่ ไม่ต้องไปปรุงไปแต่งอะไรมากมาย"ฯ
  • "เวลาจิตอยู่กับลมแล้ว ไม่ต้องว่าพุทโธก็ได้ เหมือนเราเรียกควายของเรา พอควายมาแล้วจะเรียกชื่อมันอีกทำไม"ฯ
  • "ให้ลมกับจิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เอาให้เป็นหนึ่ง อย่าให้มีสอง"ฯ
  • "ให้เกาะลมไว้ เหมือนอย่างมดแดงเวลามันกัด มันก็ไม่ยอมปล่อย"ฯ
  • ศิษย์คนหนึ่ง เมื่อฟังท่านพ่อสอนให้จับลมไว้แล้ว ก็ไม่เข้าใจความหมายของท่าน กลับนั่งภาวนาเกร็งเนื้อเกร็งตัว อยู่เพื่อกักขังลมไว้ แต่ทำให้รู้สึกเหนื่อยไม่สบาย ต่อมาวันหนึ่งในขณะนั่งรถเมล์ไปวัดมกุฏฯ เขาก็สมาธิอยู่ สังเกตได้ว่า ถ้าปล่อยลมตามธรรมชาติ ก็รู้สึกสบายขึ้น ทั้งใจก็ไม่หนีจากลมด้วย พอถึงวัดมกุฏฯ เขาก็บ่นกับท่านพ่อ "ทำไมท่านพ่อสอนให้จับลมไว้ ยิ่งจับก็ยิ่งไม่สบาย ต้องปล่อยตามธรรมชาติจึงจะดี" ท่าพ่อก็หัวเราะ ตอบว่า "ก็ไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น "จับ" หมายความว่า เกาะ ติดตามเขาอยู่ ไม่หนีจากเขา เราไม่ต้องไปบีบบังคับ สะกดเขาไว้ เขาจะเป็นยังไงก็ดูเขาไปเรื่อย"ฯ
  • "การที่เราสังเกตลมนั้นเป็นตัวเหตุ ส่วนความสุขที่เกิดขึ้นเป็นตัวผล ต้องสนใจกับตัวเหตุมากๆ ถ้าเราทิ้งเหตุไปเพลินกับตัวผล เดี๋ยวมันจะหมด แล้วเราจะไม่ได้อะไรเลย"ฯ
  • "เมื่อรู้ลมแล้ว ก็ต้องให้รู้จริงๆ ไม่ใช่สักแต่ว่ารู้เฉยๆ"ฯ
  • "การดูลมต้องเอาความสบายเป็นหลัก ถ้าลมสบาย-ใจสบาย นั่นแหละใช้ได้ ถ้าลมไม่สบาย-ใจไม่สบาย อันนั้นต้องแก้ไข"ฯ
  • "เวลาภาวนาต้องใช้ความสังเกตเป็นข้อใหญ่ ถ้ารู้สึกไม่สบายให้แก้ไขปรับปรุง แก้ไขลมให้สบายขึ้น ถ้ารู้สึกหนักก็นึกแผ่ลมให้มันเบา ให้นึกว่าลมเข้า-ออก ได้ทุกขุมขน"ฯ
  • "ที่ท่านบอกว่าให้กำหนดลมในส่วนต่างๆของร่างกาย หมายความว่า ให้กำหนดความรู้สึกที่มีอยู่ในตัว"ฯ
  • "ลม เราจะเอาเป็นที่พักของใจก็ได้ เป็นที่พิจารณาก็ได้ เวลาจิตไม่ยอมลง ก็แสดงว่ามันอยากทำงาน เราก็หางานให้มันทำ คือให้มันไปพิจารณาลมในส่วนต่างๆของร่างกาย ว่าตรงไหนลมเดินสะดวกดี ตรงไหนลมเดินไม่สะดวก แต่อย่าให้ใจหนีออกจากกายนะ ให้มันวนเวียนอยู่ในนั้น จนมันเหนื่อย พอเหนื่อย แล้วมันจะหาที่พักหยุดกับที่ โดยเราไม่ต้องไปกดไปบังคับมัน"ฯ
  • "ทำลมให้มันเหนียว แล้วนึกให้ระเบิดออกทุกส่วนของร่างกาย"ฯ
  • ศิษย์คนหนึ่งชอบบริหารร่างกาย เล่นโยคะ ออกกำลังเป็นประจำ จนท่านพ่ออาจจะเห็นว่าเกินพอดี ท่านก็แนะนำว่า "จะบริหารร่างกายก็ใช้ลมบริหาร นั่งภาวนาก็แผ่ลมให้ทั่งตัว อวัยวะน้อยใหญ่ทุกอย่าง จิตก็ฝึกไปด้วย ร่างกายก็แข็งแรงไปด้วย ไม่ต้องไปออกท่าออกทางอะไรมากมาย"ฯ
  • แล้วมีศิษย์คนหนึ่งเป็นคนขี้โรค เดี๋ยวเป็นนั่น เดี๋ยวเป็นนี่ เจ็บไข้ได้ป่วยสารพัดอย่าง ท่านพ่อจึงสอนเขาว่า "เช้าขึ้นมาทุกวัน ให้นั่งภาวนาตรวจโรคของตัวเองว่ามันเจ็บตรงไหน มันปวดตรงไหน แล้วก็ใช้ลมรักษา ที่หนักก็จะเบา ที่เบาก็จะหาย แต่จะหายไม่หายไม่ต้องเอาเป็นอารมณ์ เราก็ตรวจของเราให้อยู่กับเนื้อกับตัว ให้มีพลังจนมันอยู่เหนือความเจ็บป่วยไปได้"ฯ
  • "การภาวนาของเราจะต้องมีปีติเป็นเครี่องหล่อเลี้ยง ไม่อย่างนั้นทำไปๆมันจะเหี่ยวแห้งเกินไป"ฯ
  • "คนปฏิบัติพอปฏิบัติได้ก็เปรียบเหมือนว่าวติดลมแล้ว มันไม่อยากจะลง"ฯ
  • "เข้าธาตุถึงลมที่สม่ำเสมอ เมื่อเห็นแสงนวลขาวให้น้อมเข้ามาในตัว จิตก็จะนิ่ง กายก็เบา กายจะขาวสะอาดหมดไปทั้งตัว ใจก็จะเป็นสุข"ฯ
  • "พอลมเต็มอิ่มก็เหมือนน้ำเต็มโอ่ง ถึงจะเทเข้าไปอีกสักเท่าไร มันก็เก็บได้อยู่แค่นั้น มันก็พอดีของมันเอง"ฯ
  • "การภาวนาต้องทิ้งเป็นขั้นๆ เหมือนเขายิงจรวดในอวกาศ พอพ้นจากโลก แล้วกระสวยอวกาศก็ต้องทิ้งยานแม่ จึงจะไปถึงโลกพระจันทร์ได้"ฯ
  • "เวลาจิตอยู่ตัวแล้ว ถึงจะทิ้งลมมันก็ไม่วอกแวกไปไหน เหมือนเราเทปูน ถ้าปูนยังไม่แข็งตัว เรายังทิ้งแบบไม่ได้ แต่เมื่อปูนแข็งตัวดีแล้ว มันก็อยู่ได้โดยไม่ต้องอาศัยแบบ"ฯ
  • "กระจายลมแล้ว จนกายเบา ไม่มีตัว เหลือแต่ตัวรู้ จิตก็จะใสเหมือนน้ำที่ใส เราชะโงกลงไปในน้ำก็เห็นหน้าตัวเอง จะได้เห็นจิตตัวเองว่าเป็นยังไง" 
  • "พอลมเต็มเราก็วางซะ แล้วนึกถึงธาตุไป ธาตุน้ำ ธาตุดินที่ละอย่างๆ พอกำหนดธาตุได้ชัดเจน เราก็ผสมธาตุ คือรวมให้พอดีทุกอย่าง ไม่ร้อนเกินไป ไม่หนาวเกินไป ไม่หนักเกินไป ไม่เบาเกินไป พอดีทุกส่วน แล้วก็วางอีก ให้อยู่กับธาตุความว่าง เมื่ออยู่กับความว่างจนชำนาญพอแล้ว เราก็ดูว่า อะไรที่ว่า"ว่าง" แล้วก็กลับมาหาตัวผู้รู้ เมื่อใจเป็นหนึ่งอย่างนี้แล้ว เราก็วางอาการของความเป็นหนึ่ง แล้วดูซิว่า อะไรที่มันยังเหลืออยู่ในที่นั้น"
    "พอเราทำอย่างนี้ได้ เราก็ฝึกเข้า-ฝึกออกจนชำนาญ แล้วพิจารณาดูอาการของใจ ตอนที่มันเข้า-ออกอยู่นั้น ปัญญาก็เริ่มปรากฏในที่นั่น"ฯ
  • "การพิจารณาตัวเอง เรื่องธาตุจะต้องมาเป็นอันดับแรก เราแยกธาตุ รวมธาตุ เหมือนเราเรียนแม่กบ แม่เกย ต่อไปเราจะสร้างผสมอะไรก็ได้"ฯ
  • "ฐานอันนี้ เอาให้มั่นคงก็แล้วกัน แล้วต่อจากนั้นจะสร้างกี่ชั้นๆ มันก็เร็ว"ฯ
  • "จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากมันก็ยาก มันอยู่ที่ตัวเรา"ฯ
  • "หลักอานาปาน์ที่ท่านพ่อใหญ่เขียนไว้ในตำราเป็นแต่หลักใหญ่ๆเท่านั้น ส่วนปลีกย่อยนั้นเราต้องปฏิภาณของเราเอง เอาหลักวิชาของท่านดัดแปลงพลิกแพลง ให้เข้ากับจริตของเรา เราจึงจะได้ผล"ฯ
  • "ที่หนังสือเขาว่า อาปานสติเป็นกรรมฐานที่ถูกกับจริตของทุกคนนั้นที่จริงไม่ใช่ เพราะคนที่จะกำหนดลมได้ผล ต้องเป็นผู้ที่มีความละเอียด"ฯ
  • "เคยมีครูบาอาจารย์มาว่าท่านพ่อใหญ่ "ทำไมสอนคนให้ดูลม มันจะมีอะไรให้ดู มีแต่สูดเข้า-สูดออก แล้วดูแค่นี้จะเกิดปัญญาได้อย่างไร" ท่านพ่อใหญ่ก็ตอบว่า "ถ้าดูแค่นั้น ก็ได้อยู่แค่นั้น"ฯ
    นี่เป็นปัญหาของคนดูไม่เป็นฯ
  • มีลูกศิษย์คนหนึ่งเล่าถวายท่านพ่อฟัง ว่า แต่ก่อนเขานึกว่าที่ท่านพ่อให้ไล่ลม ขยายลม กำหนดธาตุ เล่นธาตุ ลฯ เหล่านี้ เป็นแค่อุบายให้ใจสงบสบายๆ เท่านั้น แต่ภายหลังจึงรู้ว่าเป็นอุบายวิปัสสนาสำหรับเกิดปัญญาด้วย ท่านพ่อก็ย้อนถามว่า "เพิ่งจะรู้หรือ" ๒-๓ วันต่อมา ท่านก็เล่าเหตุการณ์นี้ให้ศิษย์อีกคนฟัง แล้วพูดตอนท้ายว่า "ดูซิ ขนาดคำสอนของพระพุทธเจ้าเขายังประมาทอยู่ได้"ฯ
  • "ผู้มีปัญญาย่อมใช้อะไรๆ ให้เป็นประโยชน์ได้ทั้งนั้น"ฯ