อานาปานสติของท่านพ่อลี โดยหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ( ๒ )
ท่านพ่อสอนว่าให้กำหนดรู้ลมหายใจ
...สมัยที่ท่านพ่อลียังมีชีวิตอยู่ ท่านก็ถือว่าอาตมานอกจากจะเป็นลูกศิษย์แล้ว ยังเป็นหลานของท่านด้วย ท่านมีศักดิ์เป็นปู่เวลาท่านโปรดไปเยี่ยมเมื่อไหร่
....ท่านจะบอกว่า "มหาพุธ กำหนดจิตรู้ลมหายใจเดี๋ยวนี้"
....ท่านไม่เคยสอนอย่างอื่น ท่านบอกว่าให้กำหนดรู้ลมหายใจ พอมีสติกำหนดรู้ลมหายใจสักพักหนึ่ง
...ท่านจะถามว่าสบายไหม เวลาอยู่ต่อหน้าครูบาอาจารย์ทำอะไรมันก็สบายหมด เพราะมันกลัว กลัวบารมีครูบาอาจารย์
ก็ต้องตอบท่านว่า สบายมาก
...แล้วท่านก็ย้ำว่า "การปฏิบัติสมาธิภาวนาสำคัญอยู่ที่อานาปานสติ" ทำไมถึงว่าสำคัญอยู่ที่อานาปานสติ เรียนถามท่าน
ท่านก็บอกว่า "ใครจะบริกรรมภาวนาอะไรก็ตาม หรือจะพิจารณาอะไรก็ตาม เมื่อจิตจะเข้า เมื่อจิตสงบแล้ว ซึ่งยังไม่ใช่สมาธิ เป็นแต่เพียงความสงบ จิตหยุดนิ่ง ไม่นึกถึงอะไรอีกแล้ว ในขณะที่จิตอยู่ว่างๆ ลมหายใจจะปรากฏเด่นชัดที่สุด ซึ่งจิตมันจะวิ่งไปหาลมหายใจเอง" นี่ท่านว่าอย่างนี้
ทิพยมนต์ หมวด 3 ภาวนา
มีข้อสำคัญอยู่ 7 ข้อ คือ
- ให้ภาวนา พุธ ลมเข้ายาวๆ โธ ลมออกยาวๆ ก่อน 3 ครั้ง หรือ 7 ครั้ง (คำภาวนากับลมให้ยาวเท่ากัน)
- ให้รู้จักลมเข้าลมออกโดยชัดเจน
- ให้รู้จักสังเกตลมในเวลาเข้าออกว่ามีลักษณะอย่างไร สบายหรือไม่สบาย กว้างหรือแคบ ขัดหรือสะดวก ช้าหรือเร็ว สั้นหรือยาว ร้อนหรือเย็น ถ้าไม่สบายก็ให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขจนได้รับความสะดวกสบาย เช่น เข้ายาวออกยาวไม่สบายให้เปลี่ยนเป็นเข้าสั้นออกสั้นเป็นต้น จนกว่าจะได้รับความสบาย เมื่อได้รับความสบายสะดวกดีแล้ว ให้กระจายลมที่สบายนั้นไปในส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น สูดลมเข้าไปที่ท้ายทอยปล่อยลงไปในกระดูกสันหลังให้ตลอด ถ้าเป็นเพศชายปล่อยไปตามขาขวาทะลุถึงปลายเท้า แล้วกระจายไปในอากาศแล้วกลับมาสูดใหม่ปล่อยเข้าไปในท้ายทอย ปล่อยลงไปในกระดูกสันหลัง ปล่อยไปตามขาซ้ายทะลุถึงปลายเท้า แล้วกระจายไปในอากาศแล้วกลับมาปล่อยตั้งแต่ท้ายทอยผ่านไหล่ทั้งสองถึงข้อศอกข้อมือทะลุถึงปลายนิ้ว กระจายไปในอากาศ แล้วก็ปล่อยลงคอหอยกระจายไปที่ขั้วปอดขั้วตับ กระจายเรื่อยลงไปจนถึงกระเพาะเบากระเพาะหนัก แล้วก็สูดลมหายใจเข้าไปตรงกลางอก ทะลุไปจนถึงลำไส้ กระจายลมสบายเหล่านี้ให้ทั่วถึงกันได้ จะได้รับความสะดวกขึ้นมาก (ถ้าเป็นเพศหญิงให้กระจายลมทางซ้ายก่อน เพราะเพศหญิงและชายเส้นประสาทต่างกัน)
- ให้รู้จักขยายลมออกเป็น 4 แบบ คือ เข้ายาวออกยาว เข้าสั้นออกสั้น เข้าสั้นออกยาว เข้ายาวออกสั้น แบบใดเป็นที่สบายให้เอาแบบนั้น หรือทำให้สบายได้ทุกแบบยิ่งดี เพราะสภาพของบุคคล ลมหายใจย่อมเปลี่ยนแปลงไปได้ทุกเวลา
- ให้รู้จักที่ตั้งของจิต ฐานไหนเป็นที่สบายของตัวให้เลือกเอาฐานนั้น (คนที่เป็นโรคประสาทปวดศรีษะ ห้ามตั้งข้างบน ให้ตั้งอย่างสูงตั้งแต่คอหอยลงไป และห้ามสะกดจิตสะกดลม ให้ปล่อยลมตามสบาย ปล่อยใจตามลมเข้าออกให้สบายแต่อย่าให้หนีไปจากวงของลม) ฐานเหล่านั้นได้แก่ 1. ปลายจมูก 2. กลางศรีษะ 3. เพดาน 4. คอหอย 5. ลิ้นปี่ 6. ศูนย์ (สะดือ) นี้ฐานโดยย่อคือที่พักของลม
- ให้รู้จักขยายจิต คือ ทำความรู้สึกให้กว้างขวางออกไปทั่วสรรพางค์กาย
- ให้รู้จักประสานลม และขยายจิตออกให้กว้างขวาง ให้รู้ส่วนต่างๆของลมซึ่งมีอยู่ภายในร่างกายนั้นก่อน แล้วจะได้รู้ส่วนอื่นๆทั่วไปอีกมาก คือ ธรรมชาติลมมีหลายจำพวก ลมเดินในเส้นประสาท ลมเดินหุ้มเส้นประสาททั่วๆไป ลมกระจายออกจากเส้นประสาทแล่นแทรกไปทั่วทุกขุมขน ลมให้โทษและลมให้คุณย่อมมีปนกันอยู่โดยธรรมชาติของมัน
สรุปแล้วก็คือ
- เพื่อช่วยให้พลังงานที่มีอยู่ในร่างกายทุกส่วนของคนเราทุกคนให้ดีขึ้น เพื่อต่อสู้สิ่งต่างๆในตัว เช่น ไม่สบายในร่างกาย เป็นต้น
- เพื่อช่วยความรู้ที่มีอยู่แล้วในตัวของคนทุกคนให้แจ่มใสขึ้น เพื่อเป็นหลักวิชชา วิมุติ วิสุทธิ์ ความหมดจดสะอาดในทางจิตใจ
หลักอานาปาฯทั้ง 7 ข้อนี้ควรถือไว้เป็นหลักสูตรเพราะเป็นเรื่องสำคัญของอานาปาฯทั้งสิ้น
ไหว้พระ สวดมนต์ ภาวนา 3 อย่างนี้ ต้องควบกันเสมอไป จึงจะเป็นหนทางชำระจิตใจของพุทธบริษัท ให้บริบูรณ์โดยธรรม สมกับคำที่ว่า "สพฺพปาปสฺสอกรณํ" อย่าทำความชั่วให้รั่วไหลเข้ามาสู่กายวาจาใจ "กุสลสฺสูป สมฺปทา" จงทำความดีให้สมบูรณ์บริบูรณ์เทอญ หมายความว่า กายเราก็ได้ทำ คือไหว้พระในข้อต้น สวดมนต์ทางวาจาเราก็ได้พูด เช่น สวดพุทธคุณเข้าธาตุ ภาวนาทางใจเราก็ได้นึก เช่น "พุทโธ" เมื่อเป็นเช่นนี้เราจักมีจิตผ่องใสเข้าถึงหัวใจของศาสนาดังนี้
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกย่อมเป็นไปด้วยอำนาจจิตทั้งสิ้นใจชั่วใช้อำนาจในทางที่ผิด จิตฝึกหัดแล้วด้วยดีย่อมมีอำนาจใช้ไปในทางที่ถูก ผูกใจคนได้รับผลล้นค่า ฯ
(คัดลอกจาก ทิพยมนต์ ของพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี) ซึ่งรวบรวมไว้ในหนังสือสวดมนต์ของวัดธรรมสถิต)