พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร)
มีข้อสำคัญอยู่ ๗ ข้อ คือ
๑. ให้ภาวนา พุท ลมเข้ายาว ๆ โธ ลมออกยาว ๆ ก่อน ๓ ครั้ง หรือ ๗ ครั้ง (คำภาวนากับลมให้ยาวเท่ากัน)
๒. ให้รู้จักลมเข้าลมออกโดยชัดเจน
๓. ให้รู้จักสังเกตลมในเวลาเข้าออกว่า มีลักษณะอย่างไรสบายหรือไม่สบาย กว้างหรือแคบ ขัดหรือสะดวก ช้าหรือเร็ว สั้นหรือยาว ร้อนหรือเย็น ถ้าไม่สบายก็ให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขจนได้รับความสะดวกสบาย เช่น เข้ายาวออกยาวไม่สบาย ให้เปลี่ยนเป็นเข้าสั้นออกสั้นเป็นต้น จนกว่าจะได้รับความสบาย เมื่อได้รับความสบายสะดวกดีแล้ว ให้กระจายลมที่สบายนั้นไปในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น สูดลมเข้าไปที่ท้ายทอยปล่อยลงไปในกระดูกสันหลังให้ตลอด
ถ้าเป็นเพศชายปล่อยไปตามขาขวาทะลุถึงปลายเท้า แล้วกระจายไปในอากาศ แล้วก็กลับมาสูดใหม่ปล่อยเข้าไปในท้ายทอย ปล่อยลงไปในกระดูกสันหลัง ปล่อยไปตามขาซ้ายทะลุถึงปลายเท้า แล้วกระจายไปในอากาศ แล้วก็กลับมาปล่อยตั้งแต่ท้ายทอยผ่านไหล่ทั้งสองถึงข้อศอก ข้อมือทะลุถึงปลายนิ้ว กระจายไปในอากาศ แล้วก็ปล่อยลงคอหอยกระจายไปที่ขั้วปอดขั้วตับ กระจายเรื่อยลงไปจนถึงกระเพาะเบา กระเพาะหนัก แล้วก็สูดลมหายใจเข้าไปตรงกลางอกทะลุไปจนถึงลำไส้ กระจายลมสบายเหล่านี้ให้ทั่วถึงกันได้ จะได้รับความสะดวกขึ้นมาก
(ถ้าเป็นเพศหญิงให้กระจายลมทางซ้ายก่อน เพราะเพศหญิงและชาย เส้นประสาทต่างกัน)
๔. ให้รู้จักขยายลมออกเป็น ๔ แบบ คือ
๑) เข้ายาวออกยาว ๒) เข้าสั้นออกสั้น ๓) เข้าสั้นออกยาว ๔) เข้ายาวออกสั้น
แบบใดเป็นที่สบายให้เอาแบบนั้น หรือทำให้สบายได้ทุกแบบยิ่งดี เพราะสภาพของบุคคลลมหายใจย่อมเปลี่ยนแปลงได้ทุกเวลา
๕. ให้รู้จักที่ตั้งของจิต ฐานไหนเป็นที่สบายของตัวให้เลือกเอาฐานนั้น (คนที่เป็นโรคเส้นประสาทปวดศีรษะ ห้ามตั้งข้างบน ให้ตั้งอย่างสูงตั้งแต่คอหอยลงไป และห้ามสะกดจิต สะกดลม ให้ปล่อยลมตามสบาย ปล่อยใจตามลมเข้าลมออกให้สบาย แต่อย่าให้หนีไปจากวงลม)
ฐานเหล่านั้นได้แก่ ๑.ปลายจมูก ๒. กลางศีรษะ ๓. เพดาน ๔. คอหอย ๕. ลิ้นปี่ ๖. ศูนย์ (สะดือ) นี้ฐานโดยย่อ คือที่พักของลม
๖. ให้รู้จักขยายจิต คือ ทำความรู้ให้กว้างขวางออกไปทั่วสรรพางค์กาย
๗. ให้รู้จักประสานลม และขยายจิตออกให้กว้างขวางให้รู้ส่วนต่าง ๆ ของลมซึ่งอยู่ในร่างกายนั้นก่อน แล้วจะได้รู้ในส่วนอื่น ๆ ทั่วไปอีกมาก คือ ธรรมชาติของลมมีหลายจำพวก ลมเดินในเส้นประสาท ลมเดินหุ้มเส้นประสาททั่ว ๆ ไป ลมกระจายออกจากเส้นประสาทแล่นแทรกแซงไปทั่วทุกขุมขน ลมให้โทษและให้คุณย่อมมีปนกันอยู่โดยธรรมชาติของมัน
สรุปแล้วก็คือ
- เพื่อช่วยให้พลังงานที่มีอยู่ในร่างกายทุกส่วนของคนเรา ทุกคนให้ดีขึ้น เพื่อต่อสู้สิ่งต่าง ๆ ในตัว เช่น ไม่สบายในร่างกายเป็นต้น
- เพื่อช่วยความรู้ที่มีอยู่แล้วในตัวของคนทุกคนให้แจ่มใสขึ้น เพื่อเป็นหลักวิชา วิมุติ วิสุทธิ์ ความหมดจดสะอาดในทางจิตใจ
หลักอานาปา ฯ ทั้ง ๗ ข้อนี้ ควรถือไว้เป็นหลักสูตรเพราะเป็นเรื่องสำคัญของอานาปา ฯ ทั้งสิ้น เมื่อรู้เรื่องสำคัญเหล่านี้แล้ว ก็เท่ากับว่าเราได้ตัดถนนเส้นใหญ่ ส่วนถนนซอยนั้นไม่สำคัญ คือ ส่วนปลีกย่อยของอานาปา ฯ นั้นยังมีอยู่อีกมากแต่ไม่ค่อยสำคัญ ฉะนั้น จึงควรปฏิบัติและดำเนินตามแบบนี้ไว้ให้มาก ท่านจะได้รับความปลอดภัยเป็นอย่างยิ่งทีเดียว
ถ้าท่านรู้จักการปรับปรุงแก้ไขลมหายใจของตัวเองโดยสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว ก็เท่ากับว่าคนในบ้านของท่านเป็นคนดี ส่วนปลีกย่อยนั้น เปรียบเหมือนคนนอกบ้าน คือ แขก ถ้าคนในบ้านของเราดี คนนอกบ้านก็ต้องดีไปตามเรา คนนอกบ้านหรือแขกในที่นี้ได้แก่นิมิตต่าง ๆ และลมสัญจร ที่จะต้องผ่านไปผ่านมากในรัศมีแห่งลมของเราที่ทำอยู่ เช่น นิมิตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากลมให้ปรากฎเป็นรูป บางทีเกิดเป็นแสงสว่างขึ้น บางทีปรากฎเป็นรูปคนหรือรูปสัตว์ เป็นตนเองหรือคนอื่น บางคราวเกิดนิมิตขึ้นทางหู เช่นได้ยินคำพูดของบุคคลผู้อื่น จำได้บ้างไม่ได้บ้าง บางคราวปรากฏกลิ่นต่าง ๆ ขึ้นทางจมูก บางทีก็เป็นกลิ่นหอม บางทีก็เหม็นเหมือนซากศพ บางคราวหายใจเข้าไป ให้เกิดความอิ่มเอิบซึมซาบไปทั่วสรรพางค์กาย จนไม่รู้สึกหิวข้าวหิวน้ำ บางคราวให้เกิดสัมผัสขึ้นทางกาย ให้มีอาการอุ่น ๆ ร้อน ๆ เย็น ๆ ชา ๆ ส่ายไปส่ายมาตามสรรพางค์กาย บางทีให้ผุดขึ้นทางจิตใจซึ่งเราไม่เคยนึกคิด ก็เกิดขึ้นได้
สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ชื่อว่า "แขก" ก่อนที่จะรับแขกเหล่านี้ ให้ปรับปรุงจิตและลมหายใจของตัวให้เรียบร้อยและมั่นคงเสียก่อน จึงค่อยรับแขก การที่เราจะต้อนรับแขกเหล่านี้ เราต้องบังคับปรับปรุงแขกให้อยู่ในอำนาจของเราเสียก่อน ถ้าแขกไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของเราอย่าเพิ่งไปคลุกคลีกับเขา เขาอาจนำความเสื่อมเสียมาสู่เราได้ ถ้าหากเรารู้จักปรับปรุงเขา สิ่งเหล่านั้นก็จะเป็นเครื่องสนับสนุนเราต่อไป
การปรับปรุงนั้นได้แก่การเจริญ ปฏิภาคนิมิต คือ ให้ขยายสิ่งที่ปรากฏมานั้นให้เป็นไปตามอำนาจแห่งจิต คือให้เล็ก ให้โต ให้ใกล้ ให้ไกล ให้เกิด ให้ดับ ให้มีข้างนอก ข้างในก็ได้ สิ่งเหล่านี้จึงจะเป็นประโยชน์ในการทำจิต
ถ้าคล่องแคล่วชำนาญในนิมิตนี้ ก็จะกลายเป็นวิชา เช่น ตาทิพย์ เห็นรูปโดยไม่ต้องลืมตา หูทิพย์ ฟังเสียงไกลได้ จมูกทิพย์ ดมกลิ่นไกลได้ ลิ้นทิพย์ ดื่มรสของธาตุต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในอากาศธาตุอันจะเป็นประโยชน์แก่ร่างกาย สามารถป้องกันความหิว ความอยากได้
สัมผัสอันเป็นทิพย์ก็จะเกิดขึ้นในร่างกาย เช่นเราต้องการความเย็นก็จะเย็นขึ้น ต้องการความร้อนก็จะร้อนขึ้น ต้องการความอุ่น ก็จะปรากฏขึ้น ต้องการความเข้มแข็งของร่างกายก็จะมีขึ้น เพราะธาตุทั้งหลายที่จะให้ประโยชน์แก่ร่างายซึ่งมีอยู่ในโลก ก็จะแล่นเข้ามาปรากฏในกายของเรา
ดวงใจก็จะเป็นทิพย์ และมีอำนาจสามารถจะทำให้เกิดญาณจักขุ เช่น ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้ จุตูปปาตญาณ รู้จักความเกิดความตายของสัตว์ ว่ามาอย่างไร ไปอย่างไร อาจทราบได้ อาสวักขยญาณ ความรู้เป็นเหตุที่จะฟอกอาสวะกิเลสให้สิ้นไป ถ้าเราเป็นผู้มีสติปัญญา ย่อมรับแขกมาทำงานในบ้านของเราได้เป็นอย่างดี
นี่เป็นส่วนปลีกย่อยในการปฏิบัติอานาปานสติโดยย่อ
ฉะนั้นสิ่งทั้งหลายที่กล่าวมาให้ทบทวนดูให้ดี อย่าเพิ่งยินดีในสิ่งที่ปรากฏ อย่าเพิ่งยินร้ายหรือปฏิเสธในสิ่งที่ปรากฏ ควรตั้งจิตเป็นกลางทบทวนดูให้รอบคอบละเอียดลออเสียก่อนว่าเป็นของควรเชื่อถือได้หรือไม่ มิฉะนั้นจะเป็นเหตุให้สำคัญผิดไปก็มี
ดี ชั่ว ถูก ผิด สูง ต่ำ ทั้งหมดมันสำคัญอยู่ที่ดวงจิตของเราฉลาดหรือโง่ รู้จักพลิกแพลงดัดแปลงแก้ไข เมื่อดวงจิตของเราเป็นผู้โง่อยู่แล้ว แม้ของสูงอาจจะกลายเป็นของต่ำ ของดี อาจจะกลายเป็นของชั่ว
ถ้าหากเราได้รู้เรื่องราวต่าง ๆ ของลม และส่วนปลีกย่อยของลม ก็จะรู้ได้ในอริยสัจธรรม นอกจากนั้น ยังเป็นหนทางบรรเทาทุกข์ของร่างกายได้อย่างดีอีก ตัวสติเป็นตัวยา ลมอานาปาฯ เป็นกระสาย เมื่อสติเข้าไปฟอกแล้วย่อมบริสุทธิ์ ลมที่บริสุทธิ์จะส่งไปฟอกโลหิตต่าง ๆ ในร่างกายให้สะอาด เมื่อโลหิตสะอาดแล้วเป็นเหตุจะบรรเทาโรคภัยต่าง ๆ ในตัวได้ ถ้าเป็นผู้มีโรคเส้นประสาทประจำอยู่แล้ว ก็จะหายได้อย่างดีทีเดียว
นอกจากนี้ก็ยังสามารถจะสร้างความเข้มแข็งของร่างกาย ให้ได้รับความสุขยิ่งขึ้น เมื่อร่างกายได้รับความสุข จิตใจก็สงบได้อย่างดี เมื่อจิตสงบได้อย่างนั้น ย่อมเกิดกำลังสามารถที่จะระงับเวทนาในเวลานั่งสมาธิให้ทนทานได้หลายชั่วโมง เมื่อกายสงบจากเวทนา จิตย่อมสงบปราศจากนิวรณ์ได้อย่างดี กายก็มีกำลัง ใจก็มีกำลังเรียกว่า "สมาธิพลัง"
เมื่อสมาธิมีกำลังเช่นนั้นแล้ว ย่อมเกิดปัญญา สามารถจะแลเห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แจ้งประจักษ์ขึ้นในลมหายใจของตัวที่มีอยู่ทุกตัวคน ถ้าจะอธิบายก็ได้ความอย่างนี้ คือ ลมหายใจเข้าออกเป็น ทุกขสัจจ์ ลมเข้าเป็นชาติทุกข์ ลมออกเป็นมรณทุกข์ ไม่รู้จักลมเข้า ไม่รู้จักลมออก ไม่รู้ลักษณะของลมเป็น สมุทัยสัจจ์ ลมออกรู้ว่าออก ลมเข้ารู้ว่าเข้า รู้ลักษณะของลมโดยชัดเจนเป็น สัมมาทิฐิ องค์อริยมรรค คือ มีความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของลมหาย หายใจแบบใดไม่สบายก็รู้ และรู้จักวิธีแต่งลมหายใจของตัวว่า แบบนี้ไม่สบาย เราจะต้องหายใจแบบนี้จึงจะเป็นที่สบาย นี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ
จิตตสังขารซึ่งนึกคิดวิตกวิจารณ์ในกองลมทั้งปวงอยู่โดยชอบชื่อว่า สัมมาวาจา วาจาชอบ รู้จักวิธีปรับปรุงลมหายใจของตนโดยวิธีการต่าง ๆ เช่น หายใจเข้ายาวออกยาว หายใจเข้าสั้นออกสั้น หายใจเข้าสั้นออกยาว หายใจเข้ายาวออกสั้น จนไปถูกลมอันเป็นที่สบายแห่งตน ดังนี้ชื่อว่า สัมมากัมมันตะ การงานชอบ
รู้จักทำลมหายใจฟอกโลหิตในร่างกายให้สะอาดบริสุทธิ์ แล้วส่งไปหล่อเลี้ยงหทัยวัตถุ รู้จักแต่งลมให้เป็นที่สบายของร่างกาย รู้จักประกอบลมให้เป็นที่สบายแห่งดวงจิต หายใจเข้าไปอิ่มกาย อิ่มจิต นี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ
รู้จักพยายามเปลี่ยมลมหายใจของตนเป็นที่สบายกาย สบายจิต ถ้ายังไม่ได้รับความสบาย เกิดขึ้นในตัว ก็พากเพียรพยายามอยู่เรื่อยไปอยู่อย่างนั้นนี้เรียกว่า สัมมาวายามะ เพียรชอบ
รู้ลมหายใจเข้าออกทุกขณะเวลา และรู้กองลมต่าง ๆ ที่มีอยู่ในร่างกาย เช่น ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมพัดในท้อง ลมพัดในลำไส้ ลมพัดไปตามชิ้นเนื้อซาบซ่านไปทั่วทุกขุมขน มีสติสัมปชัญญะตามรู้อยู่ทุกขณะลมหายใจเข้าออก นี้เรียกว่า สัมมาสติ ระลึกชอบ
ดวงจิตสงบอยู่ในเรื่องของลมอย่างเดียว ไม่ไปเหนี่ยวเอาอารมณ์อย่างอื่นมาแทรกแซงทำไปจนเป็นลมละเอียด เป็นอัปปนาฌาน จนกว่าจะเกิดวิปัสสนาญาณขึ้นไปในที่นั้น เรียกว่า สัมมาสมาธิ ตั้งใจไว้ชอบ
นึกถึงลม เรียกว่า วิตก กระจายลมขยายลมแต่งลมไว้เรียกว่า วิจารณ์ ลมได้รับความสะดวกทั่วถึงกันแล้ว ก็อิ่มกาย อิ่มจิต เรียกว่า ปีติ
กายไม่กระวนกระวายใจไม่กระสับกระส่าย ก็เกิด สุข เมื่อได้รับความสุขแล้ว จิตย่อมไม่ส่ายไปสู่อารมณ์อื่น ย่อมแนบสนิทอยู่กับอารมณ์เดียว เรียกว่า เอกัคคตารมณ์
ตั้งใจไว้ชอบนี้ เรียกว่า สัมมาสมาธิ เบื้องต้นในองค์อริยมรรค มรรคสัจจ์ ทั้งหมดที่กล่าวมา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เข้ามาสันนิบาตในดวงจิตได้แล้วโดยสมบูรณ์ ย่อมทำให้รู้แจ้งในกองลมทั้งปวงว่าหายใจอย่างนี้เป็นเหตุให้เกิดอกุศลจิต
หายใจอย่างนั้นเป็นเหตุให้เกิดกุศลจิต และไม่ติดอยู่ในกายสังขารคือลม ไม่ติดอยู่ในวจีสังขาร ไม่ติดอยู่ในจิตตสังขาร ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว ปล่อยวางไปตามสภาพแห่งความเป็นจริงเรียกว่า นิโรธสัจจ์
ถ้าจะย่ออริยสัจ ๔ ให้สั้นเข้าไปอีกอย่างหนึ่งก็คือ ลมหายใจเข้าออกเป็น ทุกขสัจจ์ ไม่รู้จักลมหายใจเข้า ไม่รู้จักลมหายใจออก เป็นสมุทัยสัจจ์ หรือวิชชาโมหะ ทำให้แจ้งในกองลมทั้งปวงจนละได้ไม่ยึดถือ เรียกว่า นิโรธสัจจ์
ที่มีสติสัมปชัญญะประจำอยู่ในกองลมเรียกว่า มรรคสัจจ์ เมื่อปฏิบัติได้เช่นนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติถูกต้องตามแนวทางของอานาปา ฯ เป็นผู้มีวิชาอาจรู้ของจริงทั้ง ๔ อย่างได้อย่างชัดเจน ย่อมถึง วิมุติ
วิมุตินั้นคือดวงจิตที่ไม่เข้าไปติดอยู่ในเหตุฝ่ายต่ำ ผลฝ่ายต่ำ อันได้แก่ทุกข์ สมุทัย ไม่ติดอยู่ในเหตุฝ่ายสูงคือ มรรค และ นิโรธ ไม่ติดอยู่ในสิ่งที่ให้เรารู้ ไม่ติดอยู่ในความรู้ แยกสภาพธรรมไว้ เป็นส่วน ๆ ได้ เช่นนี้ ชื่อว่า เป็นผู้มีวิชาวิมุติ คือ รู้จักเบื้องต้น เบื้องปลาย และท่ามกลาง วางไปตามสภาพแห่งความเป็นเองที่เรียกว่า สพฺเพ ธมฺมา อนฺตตา การติดอยู่ในสิ่ง ที่ให้เรารู้ คือ ธาตุ ขันธ์ อายตนะ เหล่านี้เป็น กามุปปาทาน ติดวิชาความรู้ความเห็นของตัวเป็น ทิฏปปฐุทาน ไม่รู้จักตัวรู้ คือ พุทธะ เป็นสีลพัตุปปาทาน ย่อมเป็นเหตุให้หลง กายสังขาร วจีสังขาร และจิตตสังขาร อันเกิดจากอวิชชา
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ย่อมเป็นผู้สมบูรณ์ทั้งเหตุทั้งผล พระองค์มิได้เข้าไปยึดในเหตุฝ่ายต่ำ ผลฝ่ายต่ำ มิได้เข้าไปยึดในเหตุฝ่ายสูง ผลฝ่ายสูง อยู่นอกเหตุเหนือผล สุข ทุกข์ พระองค์ก็มีใช้ แต่พระองค์มิได้ติดสุขติดทุกข์ ดี ชั่ว พระองค์ก็รู้อยู่โดยสมบูรณ์ อัตตาและอนัตตา พระองค์ก็มีอยู่โดยสมบูรณ์ แต่พระองค์ก็มิได้ไปยึดถือในเรื่องราวเหล่านั้น
วัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งสมุทัย ก็มีใช้ แต่พระองค์ก็มิได้ติด มรรค คือ ปัญญา พระองค์ก็มีใช้ พระองค์รู้จักแต่งพระองค์ด้วยพิธีการต่าง ๆ เช่น แต่งโง่ แต่งฉลาด แล้วรู้จักใช้โง่ ใช้ฉลาด ในกิจพระศาสนา ส่วนนิโรธเล่า พระองค์ก็มีใช้มิได้ยึดถือ คือไม่มีการติดในสิ่งเหล่านั้น จึงเรียกว่า เป็นผู้สมบูรณ์ได้จริง
ก่อนที่พระองค์จะละได้เช่นนั้น พระองค์ก็ต้องบำเพ็ญให้เกิดมีขึ้นโดยสมบูรณ์เสียก่อน แล้วจึงค่อยปล่อยวาง เป็นการปล่อยวางด้วยความสมบูรณ์มั่งมี มิใช่จะวางจะปล่อยด้วยความยากจนอย่างบุคคลธรรมดา แม้พระองค์ทรงวางแล้วก็ยังมีใช้อยู่
พระองค์มิได้ทรงปฏิเสธในการที่พระองค์ได้บำเพ็ญ ศีล สมาธิ ปัญญา มาตั้งแต่ยังมิได้ตรัสรู้ จนได้รู้แจ้ง เห็นจริงแล้ว ยังทรงใช้ ศีล สมาธิ และปัญญาอยู่ทุกประการ จนวันเสด็จดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพาน ตราบถึงขณะจิตที่จะนิพพานนั้นก็ยังบำเพ็ญสมาธิสมาบัติอยู่คือ พระองค์ได้เสด็จปรินิพพานในระหว่างรูปฌาน และอรูปฌาน
เพราะฉะนั้นพุทธบริษัททั้งหลายก็ไม่น่าที่จะปฏิเสธ ศีล สมาธิ ปัญญากันเสีย คนบางคนจะถือศีล ก็กลัวศีลพัตต ฯ บางคนจะบำเพ็ญสมาธิ ก็กลัวโง่ กลัวบ้าก็มี แท้จริงคนเราก็มีความโง่ ความบ้าประจำอยู่แล้ว การกระทำสมาธิจิตนั้น เป็นเรื่องแก้โง่แก้บ้าต่างหาก
ถ้าได้ศึกษาโดยทางที่ถูกต้อง ย่อมเกิดปัญญาอันบริสุทธิ์เหมือนเพชรพลอยที่เจียระไนแล้ว ย่อมเกิดแสงขึ้นในตัวของมันเองโดยธรรมชาตินั้นแล จึงเรียกว่าเป็นตัวปัญญาที่แท้ เกิดขึ้นเฉพาะตัว ที่เรียกว่า ปัจจัตตัง เป็นได้เฉพาะตัว รู้ได้เฉพาะตัว แต่โดยมากคนเราเข้าใจผิด ไม่รู้จักลักษณะของปัญญา ไปถือเอาปัญญาไม่แท้ที่เจือปนไปด้วยสัญญามาทับของแท้เสีย
คล้าย ๆ กับว่าเอาปรอทมาทากระจกแล้ว มองเห็นเงาของตัวและคนอื่นได้ โดยอาศัยของอื่นมาฉาบทาก็เข้าใจว่า ตัวเป็นผู้ฉลาด มองเห็นธรรมลักษณะอย่างนี้ก็เท่ากับว่า ลิงส่องกระจกเงาเท่านั้นเอง ตัวเดียวก็จะต้องกลายเป็นสองตัวก็จะเล่นเงาของตนเองอยู่อย่างนี้เรื่อยไป ปรอทหลุดจากบานกระจกเมื่อไร ลิงตัวนั้นก็จะหน้าตกซบเซาอยู่โดยไม่รู้ว่าเงานั้นมาจากเรื่องอะไร ฉันใด บุคคลผู้ใดได้ปัญญาไม่แท้จริง คิดเอาเดาเอาตามสัญญาอารมณ์ว่าตนรู้ตนเห็น โดยปราศจากความรู้สึกตนเองแล้ว ก็จะได้รับความทุกข์โศก ในคราวประสบกับความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าเมื่อภายหลัง
ฉะนั้นส่วนสำคัญของปัญญาโดยธรรมชาติในทางพระพุทธศาสนาย่อมเกิดขึ้นจากการอบรมดวงจิตโดยเฉพาะเหมือนแสงเพชรที่เกิดในตัวของมันเองย่อมมีรัศมีตีแผ่โดยรอบ และเกิดแสงสว่างได้ทั้งในที่มืดและที่สว่าง ส่วนเงาในกระจกนั้นใช้ได้สำหรับในสถานที่แจ้งมีแสงสว่างมองเห็น ถ้าเอาเข้าไปในที่มืดแล้ว จะใช้ส่องเงาตัวเองไม่ได้เลย ไม่เหมือนแสงเพชรแสงพลอยที่เจียระไนแล้วย่อมมีแสงได้ทั่วไป
ฉะนั้นพระองค์จึงได้ทรงแสดงไว้ว่า ปัญญาไม่มีที่ลับ และปิดบังไม่ใช่ปัญญา เรียกว่า ปัญญารัตนัง เป็นตัวที่จะทำลายเสียได้ซึ่ง อวิชชา ตัณหา และอุปทาน ก็จะบรรลุคุณธรรมอย่างสูงสุด คือ พระนิพพาน ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่สาบ ไม่สูญ มีอยู่โดยธรรมชาติของธรรม เรียกว่า อมตธรรม
โดยมากคนเรามักจะต้องการแต่ปัญญาและวิมุติ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่อาจจะเป็นไปได้ เอะอะ ก็อนิจจัง ทุกขัง อนัตตากันเสียเลยทีเดียว สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนที่พระองค์จะปฏิเสธ อนิจจัง ของไม่เที่ยงนั้น พระองค์ได้ทำได้รู้จนปรากฏเห็นเป็นของเที่ยงเสียก่อน ก่อนที่จะปฏิเสธ ทุกขัง พระองค์ก็ได้ทำทุกข์อันนั้น ให้เป็นสุขเสียก่อน และก่อนที่จะปฏิเสธ อนัตตา ที่ไม่ใช่ตัวตนนั้น พระองค์ก็ได้ทำอนัตตาให้เป็นอัตตาขึ้นเสียก่อน จึงได้เห็นของเที่ยงของจริงที่แอบอิงอยู่ใน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็ได้รวบรวมยอดแห่งธรรมเหล่านั้นเข้ามาเป็นอันเดียว เช่น ทำ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นี้เป็นหมวดหนึ่งนับเป็นพวกเดียวกัน มีลักษณะเสมอกันหมดทั้งโลก ส่วน นิจจัง สุขัง อัตตา นี้เป็นอีกหมวดหนึ่ง เป็นสังขารธรรม พระองค์ทรงปล่อยได้แล้วในส่วนสังขารโลกและสังขารธรรม ไม่ข้องอยู่ในของเที่ยงและของไม่เที่ยง ไม่ข้องอยู่ในทุกข์และสุข ไม่ข้องอยู่ในอัตตาและอนัตตา จึงได้นามว่า วิมุติ วิสุทธิ์ นิพพานไม่ต้องไปยึดสังขารธรรมและสังขารโลกทั้งหมด
นี้เป็นลักษณะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญมา แต่ปฏิปทาของพุทธบริษัททั้งหลาย ส่วนมากมักจะเป็นผู้รู้ก่อนเกิด เป็นผู้เลิศก่อนทำ ต้องการแต่ความละความพ้นกันฝ่ายเดียว ถ้าละโดยปราศจากเหตุอันสมบูรณ์แล้วมันจะเลอะ ถ้าพ้นกันโดยปราศจากเหตุแล้วมันจะผิด สำหรับคนผู้ปรารถนาดีอยากเป็นแต่คนดี เหตุประกอบของตนโดยอาการเช่นนี้มีแล้วหรือยัง ถ้าหากว่าไม่ต้องการสร้างเหตุแห่งความละ ความพ้นโดยสมบูรณ์แล้ว พวกเราจะพ้นไปได้อย่างไร พระพุทธเจ้า พระองค์ยังทรงแสดงไว้ว่า ศีล ปราบกิเลสอย่างหยาบที่เป็นวิติกมโทษที่เกิดขึ้นทางกาย ทางวาจา ออกเสียได้ สมาธิ ปราบกิเลสอย่างกลางมี กามฉันทะ พยาปาทะ ถีนะมิทธะ อุทัจจะกุกกุจจะ วิจกิจฉา เป็นต้น ส่วนปัญญาปราบกิเลสอย่างละเอียดมี อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เป็นต้น คนบางคนที่มีปัญญาฉลาดหลักแหลม สามารถที่จะอธิบายข้ออรรถข้อธรรมได้อย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง แต่กิเลสเพียงหยาบ ๆ อันเป็นคู่ปรับแห่งศีลแค่นี้ก็ยังละกันไม่ค่อยจะออก
นี่คงจะเป็นเพราะขาดความสมบูรณ์แห่งศีล สมาธิ ปัญญา กระมัง จึงได้เป็นไปอย่างนั้น ศีลก็คงเป็นศีลอย่างเปลือก ๆ สมาธิก็คงเป็นสมาธิเปื้อนเปรอะ ปัญญาก็คงเป็นปัญญาอย่างเลอะเลือนเคลือบเอาเสมอเหมือนกับด้วยบานกระจกที่ทาด้วยปรอทฉะนั้น จึงไม่สามารถเป็นเหตุให้สำเร็จความมุ่งหวังของพุทธบริษัทได้ ตกอยู่ในลักษณะ มีดที่คมนอกฝัก คือ ฉลาดในเชิงพูดเชิงคิด แต่ดวงจิตไม่มีสมาธิ นี่เรียกว่า คมนอกฝัก ฟักไข่นอกรัง คือ แสวงหาความดีแต่ภายนอกไม่อบรมจิตของตนให้เป็นไปในทางสมาธิ ปักหลักกองทราย คือ เที่ยวยึดถือเอาสิ่งที่ไม่เป็นสาระแก่ตนมาเป็นสรณะที่พึ่งย่อมให้โทษ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ชื่อว่าเป็นผู้ที่ยังไม่ได้ที่พึ่งอันเป็นแก่นสาร ฉะนั้นจึงควรที่จะสร้างเหตุให้เป็นไปด้วยดี เพราะธรรมทั้งหลายย่อมไหลมาเทมาแต่เหตุ ดังนี้
อตฺตนา โจทยตฺตานํ ปฏิมํเส ตมตฺตนา จงเตือนตน ฝึกฝนใจด้วยตนเอง จงเร่งคิดพิจารณา (อานาปา ฯ) ของตนด้วยตนเทอญ.
ต่อไปนี้จะได้รวบรัดวิธีปฏิบัติอานาปา ฯ ให้เป็นองค์ฌานขึ้นตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
ฌาน แปลว่า ความเพ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว เช่น กระทำลมหายใจ ดังต่อไปนี้เป็นตัวอย่าง
ข้อ ๑ ปฐมฌาน มีองค์ ๕ คือ
๑. วิตก ให้นึกถึงลมหายใจเข้าออกจนจำได้ไม่เผลอ (ตรึก)
๒. เอกัคคตา ให้ประคองจิตไว้ในลมหายใจ อย่าให้มันแส่ส่ายไปในสัญญาอารมณ์อื่น ๆ ประคองจิตไว้ในเรื่องลมอย่างเดียวจนเกิดลมสบายขึ้น (จิตถึงความเป็นหนึ่งนิ่งอยู่กับลมหายใจ)
๓. วิจารณ์ คือ ให้รู้จักขยายลมหายใจที่ได้รับความสบายแล้วนั้นให้ไปเชื่อมกับลมส่วนอื่นในร่างกาย กระจายลมออกจนทั่วถึงกัน เมื่อร่างกายได้รับประโยชน์จากลมหายใจแล้ว ทุกขเวทนาก็สงบไป ร่างกายเป็นไปด้วยธาตุลมที่ดี (ตรอง) คือ เพ่งอยู่ในเรื่องของลมอย่างเดียว คุณธรรม ๓ อย่างนี้ เข้าอยู่ในสายลมอันเดียวกันจึงจะเป็นปฐมฌานได้ สายลมอันนี้ย่อมแล่นเข้าถึงฌาน ๔ ได้
วิตก เอกัคคตา วิจารณ์ สามประการนี้เป็นตัวเหตุ เมื่อเหตุเหล่านี้ทำให้สมบูรณ์ดังกล่าวมา ก็จะได้รับผลเกิดขึ้นอันเป็น "องค์ที่ ๔ คือ ปีติ" ความอิ่มกายอิ่มใจก็เกิดขึ้นดูดดื่มปลาบปลื้มปราโมทย์ อยู่โดยลำพังกายและจิต
๕. สุข ความสบายกาย เกิดจากกายสงบ กายไม่กระสับกระส่าย (กายปัสสัทธิ) ใจสบาย ใจไม่กระสับกระส่าย มีความสบายรื่นเริงอยู่โดยลำพัง ไม่วอกแวก (จิตตปัสสัทธิ)
ปีติ สุข สองอย่างนี้เป็นส่วนผล ปฐมฌานที่อธิบายมานี้ก็มีเหตุอย่างหนึ่งผลอย่างหนึ่งเท่านั้น เมื่อปีติและสุขมีกำลังมากขึ้น ลมก็ละเอียดเพราะอาศัยเพ่งนานเข้า ผลก็แรงขึ้น จึงเป็นเหตุให้ละวางวิตกวิจารณ์อันเป็นงานเบื้องต้นเสียได้ อาศัยเหตุอันเดียวคือ เอกัคคอารมณ์ก็เข้าสู่ทุติยฌาน (มรรคจิต ผลจิต)
ข้อ ๒ ทุติยฌาน มีองค์ ๓ คือ
๑. ปีติ ๒. สุข ๓. เอกัคคตา (มรรคจิต)
ได้แก่จิตที่เสวยผลมาจากปฐมฌาน ถ้าเข้าถึง ทุติยฌาน ปีติก็มีกำลังแรงขึ้นอีก สุขก็มีกำลังแรงขึ้นอีก เพราะอาศัยความเพ่งอยู่ในเหตุอันเดียว คือ เอกัคคตารมณ์ เป็นผู้ดูงานต่อไป เพ่งลมหายใจละเอียดเข้านิ่งอยู่ด้วยความอิ่มกายอิ่มใจ สุขกาย สุขจิต ใจแน่แน่วมั่นคงลงไปอีกกว่าเดิม เพ่งไปนานปีติและสุขก็มีกำลัง
แล้วแสดงลักษณะอาการขยายตัวเข้า ขยายตัวออก เอกัคคตารมณ์ก็เพ่งลงไปอีก ขยับจิตลงไปอีก ให้ละเอียด จนพ้นจากลักษณะแห่งความไหวตัวของปีติและสุขแล้ว จะเข้าถึงตติยฌาน ต่อไป
ข้อ ๓ ตติยฌาน มีองค์ ๒ คือ
๑. สุข ๒. เอกัคคตา
กายมีความสงบสงัด พ้นจากการไหวตัว เป็นกายวิเวก ไม่มีเวทนาอันใดมารบกวน จิตก็เงียบสงัด เป็นจิตวิเวก ลมก็ละเอียดกว้างขวางปลอดโปร่ง มีรัศมีสีขาวซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์กายคล้ายสำลี ระงับทุกขเวทนาของร่างกายได้หมด ระงับเวทนาของดวงจิตได้หมด จดจ้องประคองไว้แต่ลมอันละเอียดและกว้างขวาง
ดวงจิตมีอิสระ ไม่มีอารมณ์สัญญาอดีตอนาคตมาแทรก ดวงใจก็โพลงตัวอยู่โดยลำพัง ธรรมธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นสามัคคีกันทุกส่วนเกือบจะเรียกได้ว่า บริสุทธิ์ทั้งก้อนกายก็ได้ เพราะลมมีกำลังควบคุมปรนปรือธาตุส่วนอื่นให้สามัคคีกันเป็นอย่างดี
สติก็คุมอยู่กับเอกัคคตา อันเป็นตัวเหตุ ลมเต็มกาย สติเต็มกาย เพ่งลงไปจิตก็แจ่มใส ร่างกายก็เบา ใจมีกำลังกล้า เวทนา คือ สุขก็สงบ กายก็สม่ำเสมอ ไม่มีความพลั้งเผลอใด ๆ เข้าแทรก เป็นเหตุให้ปล่อยวางความสุข อาการของความสุขก็สงบ เพราะอาศัยธาตุทั้ง ๔ เสมอกัน ไม่มีลักษณะอาการเคลื่อนไหวตัว ตัวเหตุเอกัคคตาก็มีกำลังเพ่งหนักลงไปก็ได้เข้าสู่จตุตถฌานต่อไป
ข้อ ๔ จตุตถฌาน มีองค์ ๒ คือ
๑. อุเบกขา ๒. เอกัคคตา (สติ)
อุเบกขากับเอกัคคตาในฌาน ๔ นี้ มีความเพ่งอย่างแข็งแรงเหนียวแน่นมั่นคง ธาตุลมสงบไม่มีอาการกระเพื่อมกระฉอกได้เลย จิตวางเฉย หมดอารมณ์อดีตอนาคต ธาตุลมเป็นส่วนปัจจุบันก็เงียบเฉย เปรียบเหมือนทะเลหรืออากาศที่ปราศจากคลื่นรบกวน รูปและเสียงย่อมแลเห็นและรู้ได้ในทางไกล เพราะอาศัยธาตุลม ซึ่งไม่มีอาการกระเพื่อมเคลื่อนไหวตัว เปรียบเหมือนจอหนังที่คอยรับรูปภาพที่ฉายออกมาให้แลเห็น และรู้เรื่องของภาพนั้น ๆ เป็นอย่างดี มีวิชาความรู้ขึ้นในดวงจิต รู้แล้วก็เฉยอยู่ จิตก็เฉย ลมก็เฉย เฉยได้ทั้ง ๓ กาล นั่นแหละเรียกว่า เอกัคคตารมณ์ เพ่งอยู่ในความเฉยความเงียบของลม
ลมทุกส่วนของร่างกายย่อมแล่นถึงกัน สามารถที่จะหายใจได้ทุกขุมขน คือ ไม่ต้องใช้ลมหายใจทางจมูก เพราะลมหายใจกับลมส่วนอื่นเป็นพื้นเดียวกันหมด ลมเต็ม ลมเสมอกัน ธาตุทั้ง ๔ มีลักษณะอย่างเดียวหมด จิตสงบเต็มที่ ความเพ่งก็แรง แสงก็แจ่ม เป็น มหาสติปัฏฐาน
ดวงจิตก็เบิกบานแจ่มใส เหมือนแสงไฟหรือแสงอาทิตย์ ซึ่งไม่มีเครื่องปิดบัง ย่อมลุกโพลงส่องโลกให้สว่างไสว
ฉะนั้น จิตดวงนี้ย่อมมีรัศมีตีแผ่ไปทั่ว ลมก็มีรัศมี จิตก็มีรัศมีอย่างบริบูรณ์ เพราะอาศัยความเพ่งแห่งสติ ความเพ่งก็แรง แสงก็แจ่ม ดวงจิตก็มีอำนาจ คุณธรรม ๔ ประการ เข้าสันนิบาตทั้งหมด คือ สติปัฏฐานทั้ง ๔ ไม่มีอาการว่านั่นกาย เวทนา จิต ธรรม ความเห็นที่ว่า ๔ นั้นย่อมไม่มี จึงเรียกได้ว่า มหาสติปัฏฐาน เพราะธรรม ๔ ประการไม่แตกแยกกัน ใจตั้งมั่นไม่หวั่นไหว อาศัยความเพ่งอย่างแรง สติสัมปชัญญะก็รวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นสามัคคีธาตุสามัคคีธรรม โดยสมบูรณ์ที่เรียกว่า เอกายมรรค คือ ๔ ใน ๑ จึงเป็นเหตุให้เกิดมีกำลังกล้า เป็นชาคริยานุโยค องค์ตปธรรม กำจัดความมืดมิดปิดบังได้เป็นอย่างดี
แสงสว่างของดวงจิต เมื่อเพ่งแรงเข้า อำนาจอันเกิดขึ้นจากการปล่อยวางอารมณ์ต่าง ๆ ดวงจิตก็มีกำลังตั้งอยู่โดยลำพัง เหมือนบุคคลที่ขึ้นไปอยู่บนยอดภูเขา ย่อมมีสิทธิ อำนาจจะแลเห็นได้ในทิศต่าง ๆ ทั่วไป เครื่องอาศัยก็สูง คือ ธาตุลมเป็นเครื่องสนับสนุนให้เด่นเป็นอิสระ
ฉะนั้น ดวงจิตนั้นจึงสามารถจะมองเห็นสถานที่ต่าง ๆ ของธาตุ ขันธ์ อายตนะที่เรียกว่า สังขารธรรม ทั้งปวงได้เป็นอย่างดี เปรียบเหมือนบุคคลที่เอากล้องขึ้นไปถ่ายพื้นโลกบนอากาศ สามารถที่จะดึงดูดเอาภาพต่าง ๆ ในพื้นโลกได้เป็นส่วนมากฉันใด ใจของบุคคลที่เข้าถึงลักษณะอย่างนี้ ย่อมรู้เห็นความเป็นจริงของโลกและธรรม ได้เป็นอย่างดี (โลกวิทู) จะเกิดมีวิชาขึ้นอีกอย่างหนึ่งในทางจิต ที่เรียกว่า "วิปัสสนาหรือวิชชาวิมุติ" เหล่านี้เป็นต้น ธาตุทั้ง ๔ เป็นธาตุกายสิทธิ์ ดวงจิตเป็นจิตตานุภาพ เมื่อประสงค์ปรารถนาส่วนใดส่วนหนึ่ง อันเป็นส่วนของธรรมของโลก ก็ให้ขยับจิตเพ่งลมให้หนักและแรง กำลังจิตเข้าไปจ่อในธาตุอันบริสุทธิ์ ก็จะมีญาณผุดขึ้นในธาตุนั้น
เปรียบเหมือนเข็มของแผ่นจานเสียงซึ่งจดจ่อลงไป ย่อมเกิดเสียงของมนุษย์และสัตว์ปรากฏขึ้นในที่นั้นฉันใด สติของเราจดจ่อเพ่งเล็งลงในอารมณ์อันสะอาด ต้องการรูปก็จะปรากฏรูป ต้องการเสียงก็จะปรากฏเสียง ไม่ว่าใกล้หรือไกล ย่อมรู้ได้ ทั้งเรื่องโลกและเรื่องธรรม เรื่องตนและคนอื่นสุดแท้แต่เราประสงค์เรื่องใดจดจ่อลงไปก็ให้นึกขึ้นจะปรากฏได้ทันที
นี่แหละเรียกว่า "ญาณ" รู้ได้ในอดีตและอนาคตพร้อมด้วยปัจจุบัน จึงเป็นวิชาสำคัญอันหนึ่ง ที่เรียกว่า "ปัจจัตตัง" รู้ได้เฉพาะตน
ธาตุนั้นเปรียบเหมือนกระแสไฟที่แล่นอยู่ในอากาศ สติและจิตมีกำลังกล้า มีวิชาความรู้สูง สามารถที่จะทำให้ธาตุนั้นเป็นสื่อสัมพันธ์ทั่วไปในโลก เป็นทางให้เกิดวิชาความรู้ขึ้นในตัวเองได้เป็นอย่างดี
ฌานที่ ๔ นี้ เมื่อมีแล้วโดยสมบูรณ์ก็เป็นเหตุให้เกิดวิชา ๘ ประการขึ้นในตัวของเราเอง มีวิปัสสนาญาณเป็นต้น คือ
๑. วิปัสสนาญาณ คือ ความรู้แจ้งเห็นจริงในนามและรูป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป วิปัสสนาญาณนี้เป็นส่วนพิเศษ เกิดขึ้นจากการอบรม จิต มีหนทางรู้ได้ ๒ วิธี
(๑) รู้ขึ้นมาเองโดยไม่ต้องนึกคิด (๒) รู้ขึ้นจากการนึกคิด แต่ไม่ใช่การตรองให้ยืดยาวเหมือนความรู้ธรรมดา นึกเมื่อใดก็โพลงขึ้นมาเมื่อนั้น เหมือนน้ำมันเบนซินที่ชุ่มอยู่ด้วยสำลี เมื่อจ่อไฟเมื่อใดก็ลุกโพลงขึ้นได้โดยเร็ว วิปัสสนาก็ดี ญาณก็ดี ย่อมมีความเร็วได้เช่นนั้น จึงต่างจากปัญญาสามัญธรรมดา
๒. มโนมยิทธิ ฤทธิ์ในทางจิตใจ นึกเช่นไรย่อมเป็นเช่นนั้น
๓ อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้ให้ปรากฏแก่คนบางพวก เช่น แปลงรูป แปลงสถานที่ ให้ประชาชนแลเห็นด้วยตา บางคราวบางสมัย
๔. ทิพพโสต หูทิพย์ ฟังเสียงไกลได้
๕.เจโตปริยญาณ กำหนดรู้ในวาระน้ำใจของบุคคลอื่นได้ ว่าดี ชั่วหยาบหรือละเอียด
๖. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติหนหลังได้ (ท่านจะไม่ต้องยุ่งในเรื่องตายเกิด ตายสูญ เพราะได้วิชาข้อนี้)
๗. ทิพพจักขุ ได้ตาทิพย์ มองเห็นรูปละเอียดและหยาบ ใกล้หรือไกลได้ (อนุปรมาณู)
๘. อาสวักขยญาณ รู้จักวิธีทำอาสวะกิเลสเครื่องเศร้าหมองใจ ให้เบาบางและสิ้นไปได้
วิชา ๘ ประการนี้ล้วนแล้วแต่สำเร็จมาจากภูมิฐานของสมาธิทั้งสิ้น
ฉะนั้น จึงได้เขียนรวบรัดแนวทางที่จะทำให้เกิดสมาธิญาณ โดยทางของอานาปา ฯ ที่แสดงไว้นั้น เมื่อผู้มีความมุ่งหวังในส่วนความดี ทั้งหลายนี้ จงสนใจปฏิบัติอบรมจิตใจของตนเองนั้น เทอญ ฯ