"ธรรมะ เราอ่านมามากแล้ว ฟังมามากแล้ว เราก็ว่าเราเข้าใจ แต่มันถึงใจหรือยัง"ฯ

  • "ทุกสิ่งทุกอย่างที่มันเกิดกับเรา มันต้องมีเหตุปัจจัย เมื่อเราพิจารณาให้แยบคายจนรู้เหตุของมันแล้ว เราก็สามารถที่จะดับมันได้"ฯ
  • "คนเรามีสองประเภท คือชอบคิด กับไม่ชอบคิด คนไม่ชอบคิด เวลาฝึกสมาธิต้องบังคับให้พิจารณา ถ้าไม่บังคับใจจะติดสมาธิอยู่นั่น เป็นสมาธิหัวตอไม่ยอมไปไหน ส่วนคนชอบคิด กว่าใจจะเป็นสมาธิได้ ก็ต้องบังคับให้สงบมากหน่อย แต่พอเป็นแล้ว เรื่องการพิจารณานั้นไม่ต้องบังคับ มีอะไรมากระทบ ใจจะพิจารณาทันที"ฯ
  • "การที่ปัญญาจะเกิดนั้น ต้องเป็นเรื่องอุบายของใครของมัน จะเอามาใช้แทนกันไม่ได้"ฯ
  • "เมื่อปัญญาเกิดแล้ว ไม่ต้องไปจดจำเอาไว้ ถ้าเป็นปัญญาแท้มันจะเกิดกับเรา ถ้าไปจำเอาไว้ มันก็กลายเป็นสัญญาเสียแล้ว กันปัญญาใหม่ไม่ให้เกิด"ฯ
  • ชาวพุทธทางสิงคโปร์ที่กำลังฝึกจิตใหม่ๆ เคยเขียนจดหมายถึงท่านพ่อ อธิบายวิธีการปฏิบัติของเขา ที่ได้คัดจากหนังสือธรรมะเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันว่า เขาสังเกตอะไร ก็พยายามพิจารณาเป็น อนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา ไปหมด ท่านพ่อจึงสั่งให้เขียนจดหมายตอบเขา มีใจความว่า "สิ่งทั้งหลายเขาเคยว่าเขาเป็น อนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา หรือเปล่า เขาเองก็ไม่ได้ว่า ฉะนั้นอย่าไปโทษเขา ใครไปว่าเขา ให้ดูตัวนั้นดีกว่า เพราะโทษอยู่ที่ตัวนั้น"ฯ
  • "ถึงความเห็นของเราจะถูก แต่ถ้าเรายึดไว้มันก็ผิด"ฯ
  • "ปัญญาที่จะละกิเลสได้นั้น เป็นปัญญาส่วนพิเศษ ไม่ใช่ปัญญาธรรมดาต้องมีสมาธิเป็นบาทเป็นฐาน จึงจะละเขาได้"ฯ
  • "กิเลสมันทรมานเรามามากแล้ว เราต้องหัดทรมานมันบ้าง ต้องระวังตัวของเราให้ดี"ฯ
  • "พวกแขกเขาบูชาศิวลึงค์ เราเห็นว่าเขาแปลก แต่ที่จริงคนทั้งโลกก็บูชาอยู่ คือ บูชากาม เป็นแต่พวกแขกเขาทำอย่างเปิดเผย กามนี้เป็นพระเจ้าสร้างโลก คนเราทุกที่เกิดมาในโลก ก็เพราะเราบูชาศิวลึงค์อยู่ในใจ"ฯ
  • "ไม่ต้องกลัวหรอกการตาย ให้กลัวการเกิดดีกว่า"ฯ
  • วันหนึ่งลูกศิษย์คนหนึ่งภาวนาอยู่ที่บ้าน เกิดความคิดที่อยากด่าท่านพ่อ จะห้ามความคิดนี้ไม่ให้ปรากฏอยู่ในใจก็ไม่ได้ผล จึงรู้สึกระอายมาก วันหลังจึงมาขอขมากับท่าน ท่านก็บอกว่า "ใจเราคิดดียังคิดได้ คิดไม่ดีทำไมจะคิดไม่ได้ มีอะไรก็ดูมันไป แต่ถ้ามันไม่ดี อย่าไปตามทันก็แล้วกัน"ฯ
  • ลูกศิษย์อีกคนหนึ่งกราบเรียนท่านพ่อ เรื่องการคิดดี-คิดไม่ดีว่า เวลาคิดดี เขาไม่สนใจ แต่เวลาคิดไม่ดี เขาไปห้ามความคิด ท่านก็บอกว่า "ให้ดูเขาไป ดูว่าใครเป็นผู้คิดดี-คิดไม่ดี คิดดี-คิดไม่ดีเขาก็ดับไปเอง เพราะเป็นไตรลักษณ์"ฯ
  • "ใจจะคิดปรุงอะไรก็ปรุงได้ แต่อย่าหลง"ฯ
  • "กิเลสก็เหมือนจอกแหน เราต้องคอยหมั่นปัดออกเพื่อที่น้ำจะได้ใส ถ้าไม่คอยปัดออก จอกแหนจะไหลมาปิด ทำให้ไม่เห็นน้ำใส...แต่ก็ยังดีที่ยังรู้ว่า ใต้จอกแหนนั้นเป็นน้ำใส"ฯ
  • "ลูกศิษย์คนหนึ่งมาบ่นให้ท่านพ่อฟังว่า ตัวเองปฏิบัติมาตั้งนานยังตัดกิเลสไม่ได้สักตัว ท่านพ่อหัวเราะบอกว่า "ไม่ต้องไปตัดเขาหรอกกิเลส ไปตัดเขาได้หรือ เพราะกิเลสเป็นของอยู่ในโลกนี้มาก่อน เรามาหาเขาเองต่างหาก ไม่ว่าเราจะมาหรือไม่มา เขาก็อยู่ของเขาเช่นนั้น และใครเป็นคนเรียกเขาว่ากิเลส  เขาเคยบอกหรือว่าเขาชื่ออะไร เขาก็อยู่ของเขา ให้พิจารณารู้จักกับเขา มองทั้งดีทั้งชั่วของเขา"ฯ
  • "วันหนึ่งท่านพ่ออธิบายให้ศิษย์คนหนึ่งฟังถึงวิธีพิจารณาดูการเกิด-ดับของกิเลส พอดีศิษย์คนนั้นเป็นคนแก่หนังสือธรรมะ จึงเสนอความเห็นว่า "เมื่อพิจารณาเช่นนี้แล้ว น่าจะตัดรากถอนโคนมันเสียเลย" ท่านพ่อก็ตอบว่า "มัวแต่ตัดรากถอนโคน ระวังลูกมันหล่นมางอกใหม่อีก"ฯ
  • "มีคนหนึ่งมากราบเรียนท่านพ่อว่า ได้ภาวนาถึงขั้นที่ว่าพบเห็นอะไรหรือ เจอเหตุการณ์อย่างไร ก็รู้สึกเฉยไปหมด ท่านพ่อจึงเตือนเขาว่า "คนเราอุเบกขาได้ ตราบใดที่ยังไม่เจอของถูกใจ มันก็เฉยได้"ฯ
  • "คนทั้งหลายเขาก็อยู่กับทุกข์ ๆๆ ทั้งนั้น แต่ไม่รู้จักทุกข์ จึงพ้นจากทุกข์ไม่ได้"ฯ
  • "ผู้รู้แล้วจะไม่ทุกข์ ผู้ไม่รู้เท่านั้นที่ทุกข์ ทุกข์มันก็มีอยู่กับทุกคน ไม่มีใครไม่มีหรอก ตราบใดที่ยังมีขันธ์ ๕ อยู่ ทุกข์ก็ต้องมี แต่ถ้ารู้แล้วเราจะอยู่อย่างสบาย"ฯ
  • "เวลาไม่สบายนะเป็นของดี ให้พิจารณาเวทนาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เอาแต่นอน นอนก็นอนทำสมาธิ พิจารณาอาการเวทนาที่เกิดขึ้นให้ได้ อย่าให้จิตเป็นไปตามเวทนาที่เกิด"ฯ
  • "เราจะเอาอำนาจจิตเราไปเพ่งต่อสู้กับเวทนาก็ได้ แต่มันเปลืองแรง ต้องเอาปัญญามาใช้พิจารณาให้เห็นว่า มันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา ผู้รู้ก็อย่างหนึ่ง เวทนาก็อีกอย่างหนึ่ง เมื่อเห็นอย่างนี้แล้วมันจะเบา"ฯ
  • "ทุกข์ พระองค์ไม่ได้สอนให้แก้ แต่สอนให้กำหนดรู้"ฯ
  • "การเจ็บการป่วยเป็นอุปสรรคต่อการภาวนาก็จริงอยู่ แต่ถ้าเราฉลาดใช้ความเจ็บป่วยเป็นครู เราก็จะเกิดปัญญาว่าร่างกายเป็นรังของโรค ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของของเรา เราก็ถอนอุปาทานที่เคยหวงตัวเองได้ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ของเราเลย เพียงแต่อาศัยสร้างกรรมดี ใช้กรรมชั่วตามสติปัญญาความสามารถของเรา"ฯ
  • "เวลากำหนดทุกข์ก็ต้องเอาให้ละเอียด ต้องเอาถึงขนาดแค่ลืมตาปั๊บ รูปมากระทบก็รู้ว่าทุกข์แล้ว"ฯ
  • "ท่านพ่อเคยสอนลูกศิษย์ที่มีโรคประจำตัวว่า "ต้องมีสติหมั่นพิจารณาร่างกาย จนเห็นเป็นกระดูก จนร่วงลงไปกอง แล้วเผาให้เกลี้ยงไปเลย ถามตัวเองซิมีตัวตนไหม อะไรทำให้ทุกข์ ทำให้เจ็บปวด มีตัวเราไหม ดูให้ถึงแก่นแท้ของธรรม พิจารณาไปจนไม่มีอะไรของสักอย่าง จิตเห็นจิตตามเป็นจริง เขาก็วางของเขาเอง"ฯ
  • "ที่เราเป็นทุกข์อยู่ ก็เพราะเรายังมี "เรา" อยู่"ฯ
  • "สักวันหนึ่งความตายจะมาถึงเรา มาบีบบังคับให้เราปล่อยทุกสิ่งทุกอย่างฉะนั้นเราต้องหัดปล่อยวางล่วงหน้าให้มันเคย ไม่อย่างนั้น พอถึงเวลาไปจะลำบากนะ จะบอกให้"ฯ
  • "เวลาตายอย่าไปติดอาการตอนตาย"ฯ
  • "ยกจิตให้เหนืออารมณ์"ฯ
  • "อะไรจะตายก็ให้มันตาย แต่อย่าให้ใจเราตาย"ฯ

 

Go to top