"ร่างกายเรียก "ไอ้ใบ้" เพราะมันพูดอะไรของมันเองไม่ได้ จิตก็เรียก "ไอ้บ้า"เพราะมันคิดของมันได้ร้อยแปดพันอย่างเราต้องคุม ไอ้บ้าให้อยู่จึงจะเป็นสุขทั้งคู่"ฯ
- มีหลายครั้งที่คนมาพูดกับท่านพ่อ ว่าตัวเองทำงานหนักมีภาระมาก จึงไม่มีเวลานั่งภาวนา และมีหลายครั้งที่ท่านพ่อจะย้อนถามเขาว่า "แล้วตายแล้ว จะมีเวลาหรือ"ฯ
- "ให้ภาวนาอย่ามัวแต่ห่วงนอน นอนกันมาไม่รู้กี่ชาติแล้ว ไม่รู้จักอิ่มสักที มัวแต่เป็นผู้ประมาท ไม่รู้จักรักษามนุษยสมบัติเอาไว้ ระวังจะเหลือไม่เท่าเก่า"ฯ
- "คนเราทุกคนต้องการความสุข แต่ส่วนใหญ่ไม่สนใจสร้างเหตุของความสุข จะเอาแต่ผลอย่างเดียว แต่ถ้าเราไม่สนใจกับตัวเหตุ ตัวผลจะอยู่ได้อย่างไร"ฯ
- "เรียน พุท - โธ แค่นี้ก็พอ เรียนอย่างอื่นไม่รู้จักจบ ไม่เป็นไปเพื่อพ้นทุกข์พุท - โธ ตัวเดียว ถ้าเรียนจงได้เมื่อไหร่ก็สบายเท่านั้น"ฯ
- "คิดอะไร ก็ทำใจให้เป็นหนึ่ง แล้วจะสำเร็จ"ฯ
- "เมื่อคิดที่ พุทโธ แล้วไม่ต้องลังเลสงสัยว่า จะนั่งไม่ได้ดี ถ้าตั้งใจแล้ว มันต้องได้ สิ่งที่เกิดรอบตัวเราเป็นมารผจญ เขาจะเล่นละครอะไร เราก็ดูไปไม่ใช่ว่าไปเล่นกับเขาด้วย"ฯ
- "จิตเปรียบเหมือนพระราชา อารมณ์ทั้งหลายเปรียบเหมือนเสนา เราอย่าเป็นพระราชาที่หูเบา"ฯ
- "เวลาภาวนาอย่าไปกลัวว่า ภาวนาแล้วจะเป็นนั่นเป็นนี่ เพราะเป็นของที่แก้กันได้ ให้กลัวอย่างเดียวว่า จะภาวนาไม่เป็น"ฯ
- ครั้งหนึ่งมีฆราวาสคณะหนึ่งที่เคยศึกษาวิชาอภิธรรม มาขอฝึกใจกับท่านพ่อ แต่เมื่อท่านบอกให้นั่งหลับตา เขาก็ปฏิเสธทันที โดยอ้างว่า ไม่อยากฝึกสมาธิเพราะกลัวจะติดฌาน แล้วไปเกิดเป็นพรหม ท่านพ่อก็ตอบว่า "จะกลัวทำไม ขนาดพระอนาคามี ยังเกิดเป็นพรหม ไหนๆเกิดเป็นพรหมยังดีกว่าเกิดเป็นหมา"ฯ
- เวลามีใครฝึกกับท่านพ่อ ท่านไม่ค่อยจะอธิบายอะไรให้ล่วงหน้า เมื่อรู้จักหลักเบื้องต้น ท่านก็ให้นั่งไปเลย ถ้าจิตเกิดอาการอะไรขึ้นมาจากการปฏิบัติ ท่านจึงจะอธิบายวิธีแก้ไข วิธีปฏิบัติขั้นต่อไป ครั้งหนึ่งมีฆราวาสคนหนึ่ง ที่เคยผ่านครูบาอาจารย์มากต่อมาก มาถามปัญหาธรรมะกับท่านพ่อในเชิงลองภูมิท่าน ท่านก็ย้อนถามว่า "ใจเป็นหรือยัง" เขาก็ตอบว่า "ยัง" ท่านจึงบอกว่า "ถ้ายังงั้น จะไม่ขอตอบ เพราะถ้าตอบเมื่อใจยังไม่เป็น ก็จะเป็นแค่สัญญาไม่ใช่ตัวจริงของธรรมะ"ฯ
- อีกครั้งหนึ่งมีลูกศิษย์ที่ฝึกภาวนากับท่านพ่อ แล้วเห็นว่าการปฏิบัติของตนได้รุดหน้าอย่างรวดเร็ว จึงอยากทราบว่าขั้นต่อไปจะเป็นอย่างไร แต่เมื่อถามท่านพ่อ ท่านก็ตอบว่า "ไม่บอก ถ้าบอกเดี๋ยวจะเป็นผู้รู้ก่อนเกิด ผู้เลิศก่อนทำ แล้วกลายเป็นผู้วิเศษไปเลย ไม่เอา ให้ทำเอาเอง เดี๋ยวจะรู้เอง"ฯ
- การปฏิบัติจะให้เป็นไปตามที่เรานึกคิดไม่ได้นะ ใจของเรามีขั้นมีตอนของเขา เราต้องให้การปฏิบัติเป็นไปตามขั้นตอนของเขา เราจึงจะได้ผล ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นอรหันต์ดิบขึ้นมา"ฯ
- "คนเราต้องบ้าภาวนา จึงจะภาวนาได้ดี"ฯ
- "อะไรๆ ก็ขึ้นอยู่กับความสังเกตของเรา ถ้าความสังเกตของเรายังหยาบๆ เราจะได้แต่ของหยาบๆ การภาวนาของเราก็ไม่มีทางที่จะเจริญก้าวหน้าไปได้"ฯ
- "มีสติทำให้เกิดปัญญา มีศรัทธาทำให้เกิดความเพียร"ฯ
- "ความเพียรเป็นเรื่องของใจ ไม่ใช่เรื่องอิริยาบถ คือ จะทำอะไรก็ตาม ต้องรักษาสติไว้เรื่อยๆ อย่าให้ขาด ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ให้ใจมีความเพียรอยู่ในตัว"ฯ
- "การรักษาสติเป็นเรื่องรู้นิดๆ แต่ต้องทำให้เป็นนิตย์"ฯ
- "อย่าทำตัวเป็นไม้หลักปักขี้เลน เคยเห็นไหม ไม้หลักปักขี้เลน ปักลงไปก็คลอนไปคลอนมา ทำอะไรก็ต้องทำให้มันจริงให้มั่น ให้หนึ่งจริงๆ อย่างลมนี้ เอาให้เป็นที่หนึ่ง ปักมันลงแล้วให้มันมั่นคงจริงๆ อย่าให้มันคลอนแคลนง่อนแง่น"ฯ
- "อย่าทำแค่ถูกใจ ต้องทำให้ถึงใจ"ฯ
- "คนเราเวลานั่งภาวนา กว่าใจจะสงบได้ ก็ต้องใช้เวลานาน แต่พอจะออกจากที่นั่งก็ทิ้งเลย อย่างนี้เรียกว่า เวลาขึ้นบ้านก็ขึ้นบันได เวลาลงก็กระโดดลงหน้าต่าง"ฯ
- ลูกศิษย์คนหนึ่งนั่งภาวนากับท่านพ่อที่วัดมกุฏฯ จนรู้สึกว่าใจสบายเบิกบานเป็นพิเศษ แต่เมื่อกลับไปถึงบ้าน แทนที่จะรักษาอารมณ์นั้นไว้ ไปมัวแต่ฟังทุกข์ของเพื่อน จนจิตของตนเองที่ไม่ได้รักษาไว้นั้น พลอยเป็นทุกข์ไปด้วย วันต่อมา พอกลับไปถึงวัดแล้วเล่าให้ท่านพ่อฟัง ท่านก็บอกว่า "นี่เรามาเอาทองไปแลกกับขี้"ฯ
- ศิษย์คนหนึ่งหายหน้าจากท่านไปหลายเดือน พอกลับมาหาท่านอีก ก็เล่าถวายท่านฟังว่า "ที่หนูหายไปนั้น ก็เพราะที่ทำงานสั่งให้ไปเรียนพิเศษ ในระหว่างนั้นไม่มีเวลานั่งภาวนาเลย แต่ตอนนี้เรียนจบแล้ว ใจคิดแต่อยากภาวนา งานการอะไร ก็ไม่อยากทำ อยากทำแต่สงบอยู่ลูกเดียว" ในขณะที่เขาเล่าถวายท่านพ่อ แต่ท่านกลับบอกเขาว่า "ที่ไม่อยากทำงานนั้นเป็นกิเลสไม่ใช่หรือ คนภาวนาทำงานไม่ได้หรือไง"ฯ
- "การภาวนาไม่ใช่ว่าจะให้ใจอยู่ว่างๆ นะ ใจของเราต้องมีงานทำ การปล่อยให้ว่างๆ เดี๋ยวอะไรๆ ก็เข้าได้ ดีก็เข้าได้ ไม่ดีก็เข้าได้ เหมือนเราเปิดประตูบ้านทิ้งไว้ อะไรๆก็เดินเข้าไปบ้านเราได้"ฯ
- มีลูกศิษย์คนหนึ่งฝึกภาวนากับท่านพ่อหลายๆวัน ต่อๆกัน วันหนึ่งหลังจากนั่งเสร็จแล้ว ได้ปรารภกับท่านว่า "ทำไมวันนี้นั่งได้ไม่ดีเหมือนวันก่อนๆ" ท่านพ่อบอกว่า "การนั่งก็เหมือนเราใส่เสื้อ วันนี้ก็ใส่สีขาว พรุ่งนี้ก็ใส่สีแดงสีเหลืองฯลฯ คือ ต้องมีเปลี่ยนอยู่เรื่อย จะใส่ชุดเดียวกันทุกๆวัน ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นเขาจะใส่สีอะไร เราก็ดูเขาไป อย่าดีใจเสียใจกับเขา"ฯ
- คืนอีกวันหนึ่ง ศิษย์คนนั้นนั่งภาวนาเกิดอารมณ์ดีจนนึกว่าต่อไปนี้อารมณ์ไม่ดีจะไม่สามารถแทรกแซงเข้าไปในดวงจิตได้อีกเลย แต่ต่อไปก็เกิดอารมณ์ไม่ดีเข้าจนได้ จึงเอาเรื่องนี้มากราบเรียนถามท่านพ่อ ท่านก็บอกว่า "การเลี้ยงจิต ก็เหมือนเลี้ยงลูก ต้องมีดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ถ้าจะเอาเฉพาะเวลาเขาดี มันจะไปกันใหญ่ ฉะนั้นเราก็ต้องทำใจให้เป็นกลาง อย่าไปเข้ากับฝ่ายดีและฝ่ายไม่ดี"ฯ
- "ภาวนาดีอย่าไปดีใจ ภาวนาไม่ดีอย่าไปเสียใจ ให้ดูเอาเฉยๆ ว่าที่ภาวนาดี - ไม่ดีนั้น เป็นเพราะอะไร ถ้าเราสังเกตได้ อีกไม่นานก็จะกลายเป็นวิชชาขึ้นมาในตัวเรา"ฯ
- ศิษย์คนหนึ่งนั่งภาวนากับท่านพ่อ รู้สึกว่าจิตปลอดโปร่งเบาสบายมาก พิจารณาธาตุได้ชัดเจนตามที่ท่านพ่อสอนไว้ แต่วันต่อมานั่งภาวนาแล้วไม่ได้เรื่อง เมื่อเขาออกจากสมาธิ ท่านพ่อก็ถามว่า "นั่งวันนี้เป็นไงบ้าง" เขาก็ตอบว่า "เมื่อวานนี้เหมือนคนฉลาด แต่วันนี้เหมือนคนโง่" ท่านพ่อก็ถามต่อไปว่า "แล้วคนโง่กับคนฉลาด เป็นคนเดียวกันหรือเปล่า"ฯ
- ศิษย์อีกคนหนึ่ง หลังจากปฏิบัติธรรมกับท่านพ่อเป็นเวลาพอสมควรได้ปรารภกับท่านว่า เมื่อปฏิบัติแล้วรู้สึกว่าจิตยิ่งสกปรกวุ่นวายกว่าเดิม ท่านก็ตอบว่า "อันนั้นแน่นอนซิ เปรียบเหมือนบ้านเรา ถ้าเราถูพื้นอยู่เสมอแล้ว มีฝุ่น มีขยะ อะไรอยู่นิดหน่อย เราจะทนไม่ได้ ยิ่งบ้านเราสะอาดเท่าไร เราก็ยิ่งเห็นความสกปรกได้ง่ายเท่านั้น จิตเราเมื่อไม่ชำระอะไรเลย เราก็สามารถนอนอยู่กลางดินกลางหญ้า โดยไม่รู้สึกอะไรเลย แต่ถ้าเรานอนอยู่บนพื้นที่สะอาดแล้ว มีฝุ่นอยู่นิดเดียว เราก็จำเป็นต้องไปปัด ไปกวาด เราจะไม่สามารถทนอยู่กับความสกปรกนั้นได้"ฯ
- "ถ้าไปยินดีในความเป็นของผู้อื่นก็เท่ากับว่าเราไปยินดีในทรัพย์สินของคนอื่นเขา แล้วมันจะได้อะไร ให้สนใจในสมบัติของเราเองดีกว่า"ฯ
- "เมตตา กรุณา ถ้าขาดอุเบกขา ก็ยังเป็นทุกข์อยู่ ฉะนั้นใจของเรา ต้องมีฌาน สิ่งเหล่านี้จึงจะสมบูรณ์ได้"ฯ
- "การภาวนาของเราไม่ต้องไปบันทึกไว้นะ ถ้าบันทึกไว้เดี๋ยวเราจะภาวนาเพื่อให้มันเกิดเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อจะให้มีเรื่องบันทึก แล้วเราจะได้แต่ของปลอม"ฯ
- "สมาธิของเราต้องให้เป็น สัมมา นะ คือ พอดีสม่ำเสมอ อยู่เรื่อย ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่น นอน อย่าให้มีขึ้นมีลง"ฯ
- "ต้องรู้จักทำ รู้จักรักษา รู้จักใช้"ฯ
- "พอเราจับจิตให้อยู่ มันต้องอยู่กับปัจจุบันอย่างเดียว ไม่ได้วอกแวก ถึงเรื่องอดีต - อนาคต นั่นแหละ เราจะใช้มันทำอะไรได้ตามที่เราต้องการ"ฯ
- วันหนึ่งมีลูกศิษย์มาบ่นให้ท่านพ่อฟังว่า ตัวเองฝึกภาวนามาหลายปี แต่ไม่เห็นมันได้อะไรขึ้นมา ท่านพ่อก็ตอบทันที "เขาภาวนาเพื่อให้ละ ไม่ภาวนาเพื่อให้เอา"ฯ
- คืนวันหนึ่ง หลังจากพาลูกศิษย์ฆราวาสทำงานที่วัด ท่านพ่อก็พาให้นั่งภาวนาที่เจดีย์ โยมคนหนึ่งรู้สึกเพลียมาก แต่ยังฝืนนั่งเพราะเกรงใจท่านพ่อนั่งไป นั่งไป รู้สึกว่าใจเหลืออยู่นิดเดียวกลัวใจจะขาด พอดีท่านพ่อเดินผ่านแล้วพูดขึ้นมาว่า "ตายเตยไม่ต้องกลัว คนเราก็ตายอยู่แล้วทุกลมหายใจเข้า - ออก"
ทำให้โยมคนนั้นเกิดกำลังใจที่จะนั่งต่อสู้กับความเพลียนั้นได้ต่อไปฯ - "การภาวนา ก็คือการฝึกตาย เพื่อเราจะได้ ตายเป็น"ฯ