ลูกศิษย์ท่านพ่อคนหนึ่งทำการค้าขายเป็นอาชีพ เคยมีลูกค้ามาตำหนิว่า "นี้เป็นคนเข้าวัด ไม่น่าโลภมากคิดราคาแพงอย่างนี้ คนเข้าวัดน่าจะคิดถูกๆ เอาแต่พออยู่พอกิน" ตัวเขาเองก็รู้อยู่ว่า ราคาที่เขาตั้งนั้นเป็นราคายุติธรรม ไม่ได้คดโกงหลอกลวงใคร แต่ถึงอย่างนั้นยังตอบลูกค้าเหล่านี้ไม่ถูก จึงไปปรึกษาท่านพ่อท่านก็บอกว่า ให้ตอบเขาอย่างนี้สิ "ก็ฉันไม่ได้เข้าวัดเพื่อให้โง่"ฯ
- โยมคนหนึ่งมาวัดธรรมสถิตเป็นครั้งแรก กำหนดจะอยู่ถือศีล-ภาวนา เป็นเวลา ๒ อาทิตย์ ท่านพ่อก็เตือนว่า "ฆราวาสออกจากบ้าน ก็เหมือนสมภารออกจากวัด จะไปหาความสะดวกสบายไม่ได้นะ"ฯ
- โยมคนหนึ่งมาพักภาวนาที่วัด กะว่าจะอยู่สักอาทิตย์หนึ่ง แต่พอถึงวันที่สอง ก็ไปหาท่านพ่อเพื่อลากลับกรุงเทพฯ เพราะเป็นห่วงทางบ้าน ท่านพ่อจึงสอนให้ตัดกังวลอย่างนี้ "ให้คิดเสียว่า เรามาอยู่ที่นี่เหมือนเราตายไปแล้ว คนทางบ้านจะอยู่อย่างไร เขาก็ต้องอยู่ของเขาได้"ฯ
- เคยมีศิษย์หลายคนที่ขอใช้เวลาพักร้อนมาถือศีล ๘ ที่วัด แต่ไม่มีชุดขาวที่จะนุ่งห่ม หรือถึงจะมีแต่เวลาถูกท่านพ่อใช้ให้ทำงานในวัด ก็กลัวชุดขาวจะเปรอะเปื้อน ท่านพ่อจะสั่งให้ใส่ชุดธรรมดาแล้วทำงานไป โดยกำชับว่า "ขาวข้างนอกไม่สำคัญ ให้ใจขาวข้างในดีกว่า"ฯ
- โยมคนหนึ่งมาหาท่านพ่อในช่วงก่อนเข้าพรรษาแล้วเล่าให้ท่านฟังว่า ตัวเองอยากจะรักษาศีล ๘ ในพรรษาบ้าง แต่กลัวว่า อดข้าวเย็นแล้วจะหิว ท่านก็ว่าใหญ่ "พระพุทธเจ้าอดข้าวจนเนื้อไม่มี เหลือแต่หนังหุ้มกระดูก เพื่อเอาธรรมะมาสอนพวกเรา แต่เราจะอดข้าวแค่มื้อเดียวก็ทนกันไม่ไหวแล้ว นี่เป็นเพราะอันนี้ที่เรายังต้องเวียนว่านตายเกิดอยู่นี่" ทำให้โยมคนนั้นตั้งใจจะรักษาศีล ๘ ในพรรษานั้นให้จนได้
ในที่สุดก็ได้ถือศีล ๘ ทุกวันพระในพรรษาจนสำเร็จ เมื่อออกพรรษาแล้ว ก็รู้สึกภูมิใจตัวเองมาก แต่พอเข้าไปหาท่านพ่อที่วัดมกุฏฯ ยังไม่ทันเล่าอะไรให้ท่านฟัง ท่านก็พูดขึ้นมาว่า "ดีนะพรรษาของเรามีแค่ ๑๒ วัน เราก็สบายซิ ของคนอื่นก็ตั้ง ๓ เดือน" ทำให้โยมคนนั้นรู้สึกละอายแก่ใจ จึงตั้งใจรักษาศีล ๘ ตลอดพรรษาทุกปี ตั้งแต่วันนั้นมาจนทุกวันนี้ฯ - ลูกศิษย์คนหนึ่งนั่งภาวนากับท่านพ่อ แล้วเผลอไปตบยุงที่มากัดที่แขน ท่านก็เลยตั้งข้อสังเกตว่า "แหม เราคิดแพงนะ มันมาขอเลือดเรานิดเดียว แต่เราเอาถึงชีวิต"ฯ
- ศิษย์อีกคนหนึ่งปรารภเรื่องศีลข้อที่ ๕ กับท่านพ่อว่า "ทีพระพุทธเจ้าทรงห้ามกินเหล้านั้น ก็เพราะคนส่วนใหญ่กินแล้วขาดสติ แต่ถ้ากินโดยมีสติ คงจะไม่เป็นไรใช่ไหมครับท่านพ่อ" ท่านพ่อก็ตอบว่า "ถ้าเรามีสติจริง เราจะไม่กินมันเลย"ฯ
- อุบายแก้ตัวสำหรับผู้ที่จะไม่รักษาศีลข้อที่ ๕ นี้รู้สึกว่ามีมากต่อมาก อีกวันหนึ่งมีศิษย์คนหนึ่งนั่งสนทนากับท่านพ่อ ในขณะที่ศิษย์คนอื่นกำลังนั่งภาวนาในห้องนั้นด้วย เขาก็พูดว่า "การทีจะไม่กินเหล้านั้นผมทำไม่ได้ครับ เพราะผมอยู่ในสังคม บางครั้งผมก็ต้องกินไปตามสังคมเขา" ท่านพ่อก็ชี้คนที่นั่งหลับตาอยู่รอบๆตัวเขา แล้วถามว่า "ก็สังคมนี้ไม่เห็นกินเหล้ากัน ทำไมไม่ทำตามสังคมนี้บ้าง"ฯ
- ศิษย์คนหนึ่งเห็นคนอื่นจะไปถือศีล ๘ ที่วัดอโศการาม ในงานประจำปีท่านพ่อใหญ่ จึงเล่าให้ท่านพ่อฟังว่า ตัวเองนึกอยากจะไปถือศีล ๘ กับเขาด้วย ท่านก็ตอบว่า "ระวังอย่าให้ศีลแปดเปื้อนก็แล้วกัน"ฯ
- ศิษย์อีกคนหนึ่งเห็นเพื่อนถือศีล ๘ กันที่วัด ก็เลยอยากถือกับเขาบ้าง แต่พอตะวันบ่ายเดินผ่านกุฏิพระ เห็นลูกฝรั่งสวยๆ แล้วก็เก็บใส่ปาก ท่านพ่อเห็นก็ทักทันที "ไหนว่าจะถือศีล ๘ มีอะไรอยู่ในปาก" ลูกศิษย์ก็สะดุ้งเพราะสำนึกขึ้นมาได้ว่าศีลขาด ท่านพ่อก็เลยปลอบใจว่า "คนเราจะถือศีล ๘ นั้น ไม่ค่อยจำเป็นนัก แต่ขอให้ถือศีล ๑ ก็แล้วกัน รู้จักไหมศีล ๑"
"เป็นยังไงท่านพ่อ"
"ศีล ๑ ก็คือ การไม่ทำชั่วนั่นแหละ ยึดข้อนี้ไว้ให้มั่น"ฯ - ครั้งหนึ่งมีผู้ชายอายุกลางคนมาเที่ยววัด แล้วเกิดแปลกใจที่ได้เห็นว่ามีพระฝรั่ง เขาก็เล่าความแปลกใจให้ท่านพ่อฟังว่า "ทำไมฝรั่งจึงบวชได้" ท่านพ่อก็ตอบว่า "ฝรั่งเขาไม่มีใจหรือ"ฯ
- เคยมีผู้ชายมาขอบวชอยู่กับท่าน ๗ วัน ท่านก็บอกว่า "ไปบวชเผือกบวชมัน เอาไปกิน ๗ วันยังดีกว่า"ฯ
- มีหลายกรณีที่พ่อแม่บางคนเห็นว่า ลูกชายเป็นคนเลี้ยงยากหรือเลี้ยงไม่ไหว ก็โยนปัญหาไปให้พระ คือฝากลูกชายให้อยู่วัด ให้พระดัดนิสัยบ้าง ครั้งหนึ่งท่านพ่อปรารภเรื่องนี้ แล้วพูดว่า "ตอนมันทุกข์ก็วิ่งมาหาพระ ไอ้ตอนมันสุขไม่เห็นนึกถึงพระกันเลย"ฯ
- สมัยหนึ่งมีชีปะขาวที่ใช้กำลังสมาธิรักษาโรคได้ลงประวัติของตัวเองในวารสาร อ้างว่าแกเคยไปกราบท่านพ่อที่วัดมกุฏฯ แล้วท่านพ่อรับรองว่าแกได้ฌาน ซึ่งฟังแล้วก็รู้สึกว่าผิดจากปกตินิสัยท่านพ่อ แต่เมื่อชื่อของท่านปรากฏอยู่ในวารสารนั้นแล้วมีคนมาหาท่านที่วัดมากกว่าปกติ โดยหลงไปเข้าใจว่าท่านเป็นหมอดู หรือหมอรักษาโรคเหมือนชีปะขาวคนนั้น มีคนหนึ่งมาถามท่านว่า ท่านรักษาโรคไตได้ไหม ท่านก็ตอบว่า "ฉันรักษาได้แต่โรคเดียว คือ โรคใจ"ฯ
- มีคนหนึ่งที่เคยศึกษาธรรมะมามากพอสมควรไปกราบท่านพ่อที่วัดมกุฏฯ แล้วเล่าธรรมะที่เขาเคยศึกษามากมาย พอเขากลับท่านพ่อก็เอ่ย "รู้มากก็ยากนาน คนรู้น้อยก็พลอยรำคาญ"ฯ
- โยมคนหนึ่งขออนุญาตจดธรรมะของท่านพ่อเพื่อกันลืม ท่านก็ปฏิเสธ โดยบอกว่า "เราเป็นคนอย่างนั้นหรือ ไปไหนก็ต้องมีข้าวห่อติดตัว กลัวจะอดข้างหน้า" แล้วท่านก็ให้เหตุผลต่อไปว่า "ถ้าเรามัวแต่จดไว้ เราจะถือว่าถึงลืมก็ไม่เป็นไร เพราะยังอยู่ในสมุด ผลสุดท้ายธรรมะจะอยู่ในสมุดหมด ไม่มีเหลืออยู่ในใจของเรา"ฯ
- ในระหว่างการก่อสร้างเจดีย์ที่วัดธรรมสถิต มีช่วงหนึ่งที่ลูกศิษย์ไปช่วยงานก่อสร้างเกิดทะเลาะกัน ลูกศิษย์คนหนึ่งไม่พอใจในเหตุการณ์ไปรายงานท่านพ่อ ซึ่งขณะนั้นพักอยู่ที่วัดมกุฏฯ พอเขารายงานเสร็จ ท่านพ่อก็ถามว่า
"รู้จักหินไหม" "รู้จักค่ะ"
"รู้จักเพชรไหม" "รู้จักค่ะ"
"แล้วทำไมไม่เลือกเก็บเพชรล่ะ เก็บมันทำไมหิน"ฯ - คนบางคนที่ปฏิบัติธรรมแล้ว เจอปัญหาที่พ่อแม่ไม่เห็นดีด้วยที่ลูกหันมาสนใจทางนี้ เคยมีศิษย์ท่านพ่อคนหนึ่งเกิดความไม่พอใจต่อพ่อแม่ เมื่อปัญหานี้เกิดขึ้น แต่ท่านพ่อก็เตือนเขาว่า "พ่อแม่เป็นผู้มีพระคุณต่อเรา ถ้าเราไปโกรธเขา ไปว่าเขา ไฟนรกก็สุมอยู่ที่หัวเรานะ ให้ระวังไว้ แล้วตรองไว้อีกให้ดีๆ ที่เขาไม่เห็นประโยชน์ในการปฏิบัติของเรา ให้ถามตัวเองว่า ทำไมไม่เสือกไปเกิดกับพ่อแม่ที่เขามีความสนใจในการปฏิบัติธรรมกันบ้าง ที่เรามาเกิดกับพ่อแม่ของเรา แสดงว่าเราได้ทำกรรมร่วมกับเขาไว้ ฉะนั้นเราจึงต้องใช้กรรมไป ไม่จำเป็นที่จะต้องตอบโต้กับเขา"ฯ
- บางครั้งพอถึงเวลาปิดเทอม จะมีเด็กนักเรียนจากกรุงเทพฯจำนวนหนึ่ง มาช่วยงานที่วัด พอดีมีเด็กคนหนึ่งกลัวผีเอามากๆ ท่านพ่อจึงใช้ให้เด็กคนนั้นขึ้น-ลงเขา เพื่อเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้ในเวลากลางคืนเสมอๆ เพื่อให้เด็กชินกับความมืดและความเงียบสงัดจะได้จัดการกับความกลัวผีได้ แต่เด็กคนนั้นยังไม่วายที่จะกลัวอยู่นั่นเอง จึงออกปากขอคาถากันผีจากท่านพ่อ ท่านก็หัวเราะแล้วบอกว่า "ผีเผอที่ไหนมี มัวแต่กลัวผีนอกอยู่นั่นแหละ ที่อยู่กับผีในไม่รู้จักกลัว ตัวเรานี้น่ะผีเหมือนกัน ผีเป็นน่ะ รู้จักไหม ป่าช้าผีดิบดีๆนี่เอง ทั้งผีหมู ผีวัว ผีควาย ผีเป็ด ผีไก่ สารพัดที่อยู่ในท้อง เดินไปไหนก็เอาป่าช้าผีดิบติดตัวไปด้วย ยังจะกลัวอะไรอีก เอาล่ะ ถ้าอยากได้คาถาก็จะให้ เอาไปท่องจำให้ขึ้นใจนะ ผีตายหลอกผีเป็น เกิดมาไม่เห็น มีแต่ผีเป็นหลอกผีตาย"ฯ
- ถ้าใจเรามั่นในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พวกที่เขาเล่นของ เล่นไสยศาสตร์ จะทำอะไรเราไม่ได้"ฯ
- ท่านพ่อเคยปรารภนักปฏิบัติที่ยังนับถือคนเข้าทรง ว่า "ถ้าต้องการให้การปฏิบัติได้ผลดี ต้องอธิษฐานว่า จะขอถือองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอย่างเดียว อย่างอื่นไม่ใช่ที่พึ่ง"ฯ
- "เราเป็นผู้ปฏิบัติธรรม ไม่ต้องไปอัศจรรย์ใครทั้งนั้น ว่าเขาดีวิเศษวิโสแค่ไหน จะทำอะไรก็ต้องมีหลัก"ฯ
- "ท่านผู้รู้ทั้งหลาย เราไม่ต้องไปเที่ยวกราบท่านหรอก เป็นการลำบากเปล่าๆ ทั้งสองฝ่าย ให้กราบท่านในใจดีกว่า เรากราบท่านในใจนั่นแหละเราถึงท่านแล้ว"ฯ
- "ของจริงขึ้นอยู่กับเรา ถ้าเราทำจริงจะได้ของจริง ถ้าเราไม่ทำจริง เราจะได้แต่ของปลอม"ฯ
- "ไปกี่ที่กี่วัด รวมแล้วก็วัดเดียวนะละ คือ วัดตัวเรา"ฯ