LPFuang001_1000.jpg

พระอาจารย์เฟื่อง เกิดเมื่อวันอังคาร เดือน ๖ แรม ๖ ค่ำ ปีเถาะ ตรงกับ วันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ที่บ้าน้ำฉู่ ตำบลเกวียนหัก อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี บิดาชื่อ นายเทียน มารดาชื่อ นางเหลื่อม นามสกุลเชื้อสาย มีอาชีพทำนา (ตามนิทานที่ผู้ใหญ่เล่ากันต่อๆมา ว่า บรรพบุรุษในตระกูลนี้เคยคลอดลูกเป็นงู ลูกหลานในตระกูลเชื้อสาย จะไม่รังแก หรือทำร้ายงูเป็นอันขาด) มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๕ คน คือ

นายกลิ่น เชื้อสาย

นายนิด เชื้อสาย

นางทองหล่อ สาสะเน

พระครูญาณวิศิษฏ์ (เฟื่อง โชติโก)

ด.ญ. ชม เชื้อสาย

TP Faung.jpg

ทุกคนได้ถึงแก่กรรมและมรณภาพไปแล้ว ชีวิตความเป็นอยู่ของท่านในวัยเด็กมีความยากลำบากมาก เมื่ออายุได้ ๖ ขวบ เกิดความอดอยากขึ้นในตำบลที่ท่านอยู่ ท่านเล่าให้ฟังว่า มีนกเป็ดน้ำนับร้อยๆตัว ลงมากินข้าวที่พึ่งหว่านในนาใหม่ๆ จนหมด โยมพ่อต้องไปหายอดหวายมาเลี้ยงครอบครัว เพื่อประทังชีวิตไปวันๆ ส่วนตัวท่านก็ออกหากบหาเขียดมาเพื่อใช้เป็นอาหาร (ต่อมาภายหลังเมื่อท่านเกิดเป็นโรคผิวหนัง ท่านก็ชอบเล่าว่าเป็นผลกรรมที่เนื่องมาจาก การถลกหนังกบและหนังเขียดในวัยเด็กนั้นเอง)

ต่อมาอีก ๓ ปี ท่านอายุได้ ๖ ขวบ โยมพ่อก็ถึงแก่กรรม ด.ช. เฟื่อง (หรือที่เรียกกันในสมัยนั้น ด.ช. แดง) ได้ไปช่วยน้าเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย จนกระทั่งวัวได้ออกลูกมาตัวหนึ่ง น้าจึงยกให้เป็นรางวัล ต่อมาเมื่อลูกวัวโตขึ้น มีคนมาขอซื้อในราคา ๙ บาท ซึ่งสำหรับเด็กบ้านนอกในสมัยนั้นนับว่าเป็นเงินจำนวนมาก (ท่านภูมิใจและดีใจในเงินจำนวนนี้มาก) แต่พอได้เงินมา ด.ช. เฟื่อง ก็เกิดอาการป่วยหนักเป็นไข้ ถ่ายท้อง ผมร่วง ต้องนอนรักษาอยู่เป็นเดือน เงินที่ได้มาจากการขายวัวต้องใช้เป็นค่ายาและค่าหมอในการรักษาทั้งหมด พอหายป่วยไม่นานโยมแม่ก็ถึงแก่กรรม

ขณะนั้น ด.ช.เฟื่อง อายุได้ ๑๑ ขวบ ทางญาติจึงพาไปฝากให้อยู่กับเจ้าอาวาสที่เข้มงวดในการอบรมลูกศิษย์วัดเป็นอย่างมาก หลวงพ่อจะเป็นผู้สอนหนังสือและสอนให้ฝึกเล่นดนตรีไทย (ท่านฝึกหัดเล่นระนาดเอกเป็นดนตรีชิ้นแรก) โดยหลวงพ่อเจริญเป็นผู้สอน เวลาเรียนหนังสือ ถ้าอ่านตัวไหนผิดก็จะถูกตีที่ศีรษะหนึ่งที เวลาเรียนดนตรีไทย หลวงพ่อเจริญจะเคาะที่ศีรษะผู้เรียนไปตลอดจนกว่าจะเรียนจบในวันนั้น ขณะนั้นด.ช. เฟื่อง เป็นเด็กวัดที่มีอายุมากที่สุด มีหน้าที่หุงข้าวถวายพระทั้งเช้าและเพล จึงไม่มีเวลาที่จะท่องจำหนังสือ พอเรียนได้ถึงบท ก.เกย. หลวงพ่อให้ท่องผันเสียง ด.ช. เฟื่องท่องไม่ได้ จึงโดนตี ๖ ที ด.ช. เฟื่อง ตัดสินใจหนีกลับไปที่บ้านคุณปู่ พอถึงบ้านคุณปู่บอกว่าจะส่งให้กลับไปอยู่ที่วัดอีก ด.ช. เฟื่อง จึงบอกว่า "ถ้าอย่างนั้น ไม่ต้องไปส่งก็ได้ ฉันจะกลับเอง" ด.ช. เฟื่อง จึงออกจากบ้าน เดินผ่านวัดแล้วเลยเข้าไปในอำเภอขลุง เพื่อหาเพื่อนของพ่อแม่ที่นับถือกันเหมือนญาติ ซึ่งได้พาท่านไปฝากไว้ที่วัดอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งวัดนี้ปรากฏว่าเจ้าอาวาสเป็นผู้ที่ซื้อวัวจากเด็กชายเฟื่อง (ท่านจำชื่อวัดไม่ได้) หลังจากนั้นไม่นาน พี่สาวไปหาแล้วชวนนั่งเรือเข้าอำเภอเมือง เพื่อไปหาญาติฝ่ายแม่ พอไปถึงได้พา ด.ช.เฟื่อง ไปฝากให้อยู่กับเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ บางกะจะ เพื่อให้เข้าเรียนหนังสือ ป. ๑ อายุ ๑๒ ขวบ เป็นเด็กโตที่สุดในห้องเรียนเมื่ออยู่ ป. ๒ อายุ ๑๓ ขวบ ทางโรงเรียนได้พานักเรียนที่เป็นลูกเสือไปเที่ยวกรุงเทพฯ โดยพักที่โรงเรียนวชิราวุธ ทางโรงเรียนได้พาเที่ยวที่สนามหลวง วัดพระแก้ว และพาเดินไปสะพานพุทธ ด.ช. เฟื่องได้มีโอกาสชมบารมีในหลวงรัชกาลที่ ๗

เจ้าอาวาสวัดบางกะจะ นั้นเก่งในทางเป็นหมอจับเส้น เวลาท่านเจ้าอาวาสออกตรวจคนไข้ตามบ้าน ด.ช. เฟื่อง จะต้องตามไปด้วย แล้วทำหน้าที่เป็นผู้วิ่งหายา ต่อมาท่านเจ้าอาวาสเกิดความรักและสงสารจึงบอกว่าจะสอนวิชาจับเส้นให้ ด.ช. เฟื่อง เห็นถึงความเหน็ดเหนื่อยในการเป็นหมอ ในการหายา ไม่มีเวลาเป็นของตัวเองจึงปฏิเสธไม่เรียนวิชานี้

ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยที่ท่านอยู่วัดใหม่ๆ ท่านยังไม่รู้เรื่องบาปบุญคุณโทษเท่าไรนัก บางครั้งเมื่อต้องการเงินก็แอบต้มเหล้าขาย บางครั้งก็ช่วยเหลือพี่ชายนำเรือบรรทุกของเถื่อนเข้าไปขายในเมืองจันท์ แต่พอท่านอายุได้ ๑๖ ปี ธรรมะที่พระเทศน์ประจำนั้น ก็เริ่มจะซึมซาบเข้าไปในหัวใจ ท่านพิจารณาเห็นว่า ตนต้องพึ่งตนเอง พ่อแม่ก็ไม่มี ทรัพย์สมบัติก็ไม่มี วิชาความรู้ก็ไม่มี ท่านจึงเกิดศรัทธาที่จะบวชแสวงบุญ

ใน พ.ศ. ๒๔๗๘ พออายุครบได้ ๒๐ ปี ท่านจึงบวชที่วัดโบสถ์บางกะจะนั้นเอง พอเริ่มเรียนพระธรรมวินัย ท่านจึงรู้ขึ้นมาว่า เพื่อนพระในวัดไม่ได้ปฏิบัติถูกต้องตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ และถ้ามีพระองค์ใดพยายามปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด ก็จะถูกโจมตี ท่านรู้สึกผิดหวัง แต่ความตั้งใจเดิมยังมีอยู่ ท่านจึงตัดสินใจอยู่ต่ออีก ๑ พรรษา พอเข้าพรรษาที่ ๒ มีโยมคนหนึ่งมาเล่าให้ฟังว่า มีพระธุดงค์มาพักอยู่ในป่าช้าคลองกุ้ง มีคนไปฟังธรรมะจากท่านเป็นจำนวนมาก พระธุดงค์องค์นั้นคือ ท่านอาจารย์ลี ธมมธโร โยมคนนั้นจึงพาท่านไปฟังธรรมะจากท่านอาจารย์ลี พอฟังธรรมะและเห็นปฏิปทาของท่านอาจารย์ลีก็เกิดศรัทธา ต่อจากนั้นได้ไปฟังธรรมจากท่านอาจารย์ลีทุกวันเป็นประจำ ท่านอาจารย์ลีเล่าถึงความเป็นอยู่ของพระป่า ท่านจึงนึกอยากจะออกอยู่ป่ากับท่านลี ดังนั้นจึงได้ตัดสินใจทดลองฝึกตนเองก่อนว่าจะมีความอดทนได้หรือไม่ ทุกวันพอกลับจากบิณฑบาต แทนที่จะฉันร่วมกับหมู่เพื่อน ท่านก็แยกเข้าโบสถ์ ฉันองค์เดียว ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร ท่านก็เห็นว่าพออยู่ได้ ด้วยเหตุนี้เมื่อออกพรรษา ท่านจึงขอติดตามท่านอาจารย์ลีเดินธุดงค์ โดยเดินออกจากป่าช้าคลองกุ้งไปทางเขาวงกต ตำบลนายายอาม อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นเขตต่อแดนกับจังหวัดระยอง แล้วเดินธุดงค์ต่อเข้าเขตปากน้ำประแสร์ โดยมีเพื่อนพระอีกองค์หนึ่งร่วมเดินทางด้วย

ขณะนั้นเป็นช่วงระยะเวลาที่ท่านตัดสินใจว่าจะสึกหรือจะญัตติ ท่านดำริว่า "ถ้าสึกออกไปคงไม่มีโอกาสเงยหน้าขึ้น คงจะต้องมีแต่ความทุกข์ยากลำบากต่อไป แต่ถ้าญัตติอยู่กับท่านอาจารย์ลี ก็คงจะได้มีโอกาสเห็นแสงสว่างในชีวิตบ้าง" ท่านจึงตกลงใจกลับไปเมืองจันทบุรี เพื่อลาอุปัชฌาย์ ฝ่ายพระอุปัชฌาย์พยายามถ่วงไว้ว่า "รอไว้ก่อน" ส่วนพระครูครุนาถสมาจารย์ เจ้าอาวาสวัดจันทนาราม ซึ่งเป็นวัดธรรมยุติแห่งเดียวในจังหวัดจันทบุรี ในสมัยนั้น ท่านก็ไม่กล้าให้ญัตติ เนื่องจากจังหวัดจันทบุรีไม่เคยมีพระมหานิกายญัตติเป็นธรรมยุติมาก่อน ท่านเจ้าอาวาสเกรงว่าจะมีวิพากษ์วิจารณ์กันในคณะมหานิกาย แต่ในที่สุด อุปสรรคเหล่านั้นท่านก็ผ่านพ้นมาได้ เมื่อท่านกลับไปบอกกับพระอุปัชฌาย์ว่า "ถ้าท่านอนุญาต ผมจะสึกแล้วบวชใหม่" พระอุปัชฌาย์จึงยินยอม ฉะนั้นท่านจึงได้ญัตติเข้าคณะธรรมยุติเมื่อเดือน พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ที่วัดจันทนาราม ตำบลจันทนิมิต อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี โดยพระครูครุนาถสมาจาร (เศียร) (ต่อมาเป็นพระอมรโมลี) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระครูพิพัฒน์วิหารการ (เชย) เป็นพระกรรมวาจา พอญัตติเรียบร้อยท่านก็ไปอยู่กับท่านพ่อลี ที่วัดป่าคลองกุ้ง

การปฏิบัติเมื่อท่านไปอยู่กับท่านพ่อลี ตามที่ท่านเล่าให้ฟัง ผู้ใดที่จะอยู่กับท่านพ่อลี ต้องหนักแน่นที่สุด มีความตั้งใจ กลางวันปฏิบัติท่านพ่อลี คอยต้มน้ำชงน้ำชา เมื่อเวลาท่านพ่อลีมีแขก กลางคืนจะมีการอบรมตั้งแต่ ๖ โมงเย็น ถึง ๔ ทุ่มบ้าง ๕ ทุ่มบ้าง ๖ ทุ่มบ้าง มีการไหว้พระสวดมนต์นั่งภาวนา ฟังเทศน์ฟังธรรมจากพระไตรปิฎก บุพพสิกขาวรรณนาและวินัยมุข เป็นต้น พออบรมเสร็จแล้ว ห้ามกลับไปนอนที่กุฏิ ต่างคนต่างเดินจงกรมและนั่งภาวนาต่อ

นอกจากเวลาเทศน์ ท่านพ่อลีเป็นพระที่พูดน้อย ถ้ามีใครปฏิบัติท่าน หรืออยู่รับใช้ท่าน ท่านพ่อลีจะใช้สายตาแทนคำพูด ท่านพ่อลีถือว่า "ถ้าถึงกับต้องพูดกัน แสดงว่าไม่รู้จักกัน" เป็นอุบายฝึกให้ลูกศิษย์เป็นคนช่างสังเกต (อุบายนี้ ท่านพ่อเฟื่องนำมาใช้กับลูกศิษย์ต่อมาด้วย) บางครั้งท่านพ่อลีจะพูดสั้นๆ ห้วนๆ ผู้ฟังต้องนำไปคิดพิจารณา จึงจะเกิดความเข้าใจ ท่านพ่อเฟื่องเคยเล่าให้ฟังว่าครั้งหนึ่ง มีโยมคนหนึ่งมาพูดกับท่านพ่อลีว่า "ดิฉันจะสร้างกุฏิถวายให้ท่านพ่ออยู่" ท่านพ่อลีก็ตอบว่า "โยมเห็นอาตมาเป็นตัวปลวกตัวมอดหรือ" โยมคนนั้นเลยร้องไห้ เพราะไม่เข้าใจในความหมายของท่านพ่อลี ถ้าจะสร้างกุฏิก็ให้อุทิศแก่สงฆ์จากทิศทั้ง ๔ เสีย อย่าอุทิศเฉพาะคนนั้นคนนี้...

พระครูญาณวิศิษฏ์ (ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก)

พ.ศ. ๒๔๗๘ บวชเมื่ออายุ ๒๐ ปี ที่วัดโบสถ์ บางกะจะ

พ.ศ. ๒๔๘๐ พบท่านพ่อลี ธมมธโร ติดตามธุดงค์จากป่าช้าคลองกุ้งไปทางเขาวงกต ต่อเข้าเขตปากน้ำประแสร์ ระยอง

พ.ศ. ๒๔๘๐ ญัตติเข้าคณะธรรมยุตติ ธุดงค์ตามแนวป่าเขตจันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี

พ.ศ. ๒๔๘๑ ท่านพ่อกับท่านอาจารย์เจี๊ยะ ลาท่านพ่อลีขึ้นไปเชียงใหม่ กราบนมัสการพระอาจารย์มั่น ที่ อ.พร้าว ๑ พรรษา แล้วออกธุดงค์

พรรษาที่ ๕ อยู่เชียงใหม่ติดตามท่านอาจารย์พรหม ธุดงค์ไปถ้ำเชียงดาวกับท่านอาจารย์สิม อยู่กับท่านอาจารย์อ่อนสา และไปองค์เดียวที่หมู่บ้านชาวเขาเผ่ามูเซอร์ดำ

พรรษาที่ ๘ ท่านพ่อลีเรียกตัวกลับวัดป่าคลองกุ้ง

พ.ศ. ๒๔๙๓ ท่านพ่อลีเดินทางไปจำพรรษาที่ประเทศอินเดีย ให้ท่านพ่อเฟื่องรักษาการแทน และอบรมพระเณร สอนกรรมฐานที่วัดป่าคลองกุ้ง ท่านพ่อลีกลับมาสอนภาวนาตามแนวอานาปานสติตลอดมา

๕ ธ.ค. ๒๕๐๐ ท่านพ่อลี ได้รับแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะที่พระสุทธิธรรมรังสี คัมภีรเมธาจารย์ ท่านพ่อเฟื่องเป็น พระครูปลัดฐานานุกรมของท่านพ่อลี

๒๖ เม.ย. ๒๕๐๔ ท่านพ่อลี มรณภาพ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดมกุฏกษัตริยาราม รักษาการแทน

พ.ศ. ๒๕๐๙ ท่านพ่อได้รับแต่งตั้งเป็น พระครูสัญญาบัตร (พระครูญาณวิศิษฏ์) ในฐานานุกรมของสมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฐายี) และจำพรรษาที่วัดมกุฏกษัตริยาราม สอนกรรมฐานให้สมเด็จฯ และพระเณรในวัด

พ.ศ. ๒๕๑๒ แม่ชีคุณนายสมบูรณ์ เรืองฤทธิ์ และร.อ.ทับ รอดอนันต์ ติดต่อกับสมเด็จฯ ขอถวายที่ตั้งวัดใน ต. กระเฉท อ.เมือง จ.ระยอง สมเด็จฯ ตั้งชื่อวัดว่า วัดธรรมสถิต

พ.ศ. ๒๕๑๓ ท่านพ่อมาจำพรรษาที่วัดธรรมสถิตเป็นปีแรก 

พ.ศ. ๒๕๑๔ ยอมรับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดธรรมสถิต

พ.ศ. ๒๕๑๘ พระเทพโมลี (พระธรรมธัชมุนี) เจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม นิมนต์ท่านพ่อให้จำพรรษาที่วัดมกุฏฯ เพื่ออบรมกรรมฐานให้พระนวกะ ท่านพ่อทำหน้าที่ตลอดชีวิต โดยจำพรรษาที่วัดธรรมสถิต แล้วสัตตาหะไป - มา ระหว่างวัดธรรมสถิต และวัดมกุฏฯ

พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นเอก ที่ พระครูญาณวิศิษฏ์ 

๑๑ ปีสุดท้าย แบ่งเป็น ๔ ภาค

๑. อบรมกรรมฐาน ๒. ก่อสร้าง ๓. เดินทางต่างประเทศ ๔. อาพาธ

การก่อสร้างในวัดธรรมสถิต (พ.ศ. ๒๕๑๙ - ๒๕๒๙)

Jedi400.jpg
สร้างเจดีย์วัดธรรมสถิต พิธีวางศิลาฤกษ์ เดือนพฤษภาคม ๒๕๒๒ คืนวันมาฆบูชา ยอดเจดีย์เสร็จ พ.ศ.๒๕๒๕ พิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างเจดีย์เสร็จมีเงินเหลือเท่าเดิม ต่อมาสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรก หน้าตักกว้าง ๖ เมตร พญานาค กว้าง ๘ เมตร ใต้ฐานพระทำเป็นพระอุโบสถ
Jedi2_400.jpg
๔ พ.ค. ๒๕๒๕ พิธีวางศิลาฤกษ์

พรรษา ๒๕๒๕ เริ่มก่อสร้าง

๑-๙ ส.ค. ๒๕๒๘ ประกอบพิธีพุทธาภิเษก ๙ วัน ๙ คืน วันลอยกระทง ประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

๔ พ.ค. ๒๕๒๙ พิธีเบิกพระเนตร

เดินทางไปต่างประเทศ

๒ มิ.ย. - ๑๐ มิ.ย. ๒๕๒๒ ไปฮ่องกง

๓ มิ.ย. - ๑๒ มิ.ย. ๒๕๒๔ ไปฮ่องกง

๒ พ.ย. - ๑๗ พ.ย. ๒๕๒๔ พาลูกศิษย์ไปประเทศอินเดีย

๒๗ มี.ค. - ๓ เม.ย. ๒๕๒๖ พาลูกศิษย์ไปประเทศศรีลังกา พร้อมหลวงปู่วัย จตฺตาลโย

๙ พ.ค. - ๒๖ พ.ค. ๒๕๒๖ ไปฮ่องกง ครั้งที่ ๓ และเดินทางต่อไปประเทศจีน

๕ มิ.ย - ๙ ก.ค. ๒๕๒๖ ไปประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อังกฤษ และอินเดีย

๗ พ.ค. - ๑๕ พ.ค. ๒๕๒๗ พาลูกศิษย์ไปประเทศอินเดีย

๑๙ มี.ค. - ๙ เม.ย. ๒๕๒๙ ไปฮ่องกง ครั้งที่ ๔ และไปประเทศจีน

๘ พ.ค. ๒๕๒๙ ไปฮ่องกง ครั้งที่ ๕

๑๔ พ.ค. ๒๕๒๙ หัวใจวาย (Coronary Thrombosis) ที่ห้องพักสำนักกรรมฐานรังสี ที่เมืองฮ่องกง

สิริชนมายุได้ ๗๑ ปี ๑๐ วัน พรรษา ๔๙

 

 

Go to top